ผู้เชี่ยวชาญไวรัสห่วง “โรคมือเท้าปาก” พบเชื้อ EV71 สายพันธุ์รุนแรงระบาดมากขึ้น พร้อมแนะวิธีป้องกัน
จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Saowapa Sittikankaew โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ถึงกรณีลูกสาว “น้องโม” อายุ 4 ขวบ เสียชีวิตจากการป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก เพื่อเป็นกรณีศึกษาแก่ครอบครัวอื่นที่มีลูกเล็กนั้น ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคมือเท้าปากเป็นกลุ่มอาการเกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิด แต่ที่ชัดเจนคือ เมื่อป่วยโรคมือเท้าปากแล้วเสียชีวิตมักเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ที่สังเกตพบคือ จากเดิมการระบาดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อค็อกซากี เอ6 (Coxsackie A6) สายพันธุ์ไม่รุนแรง มีอาการตุ่มแผลมาก แต่ในปีนี้เป็นเชื้อ EV71 ซึ่งอัตราส่วนของโรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อ EV71 ในปีนี้นั้นมีแนวโน้มสูงขึ้น และเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี ซึ่งโดยเฉลี่ยแต่ละปีจะพบประมาณ 10% แต่ปีนี้พบเชื้อ EV71 ประมาณ 18 - 20% นอกจากนี้ ยังพบ ผู้ป่วยแผลเพดานอ่อน มากกว่าทุกปี เป็นสายพันธุ์ไม่รุนแรง คือ ค็อกซากี เอ2 (Coxsackie A2) อีกด้วย
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศจะช่วยบอกถึงความรุนแรงที่จะเกิด อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อ EV71 ในเด็กที่ป่วยโรคมือเท้าปากทุกคนที่มาโรงพยาบาลคงเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ป่วยมีจำนวนมาก และโรงพยาบาลในต่างจังหวัดบางแห่งก็ไม่สามารถตรวจเองได้ แต่หากเด็กมีอาการป่วยที่รุนแรง คือ มีตุ่มน้ำใส หรือตุ่มแดงขึ้นบริเวณหัวเข่า ข้อศอก และก้น ร่วมกับมีอาการไข้ให้วินิจฉัยไว้ก่อนว่าเป็นเชื้อ EV71 และควรส่งตรวจเชื้อ ซึ่งหากโรงพยาบาลที่ไม่สามารถตรวจได้ก็สามารถส่งตรวจศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสได้ ใช้เวลาประมาณ 2 วัน จึงทราบผล ส่วนการรักษานั้นแพทย์จะทราบดีอยู่แล้วว่าต้องรักษาตามอาการ ทั้งนี้ เชื้อ EV71 มีความรุนแรงแต่ไม่ใช่ว่าทำให้เสียชีวิตเสมอไป กลุ่มเสี่ยงคือ เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เนื่องจากภูมิต้านทานยังไม่เต็มที่ เชื้อจึงมีโอกาสเข้าสู่สมองและหัวใจได้
“การดูแลเรื่องสุขอนามัย ล้างมือ ทำความสะอาดสถานเลี้ยงเด็ก จะช่วยลดการระบาดลงได้ ส่วนการป้องกันโรคมือเท้าปาก ทำได้ดังนี้ 1. ล้างมือ ทำความสะอาด ดูแลสุขอนามัย ไม่ใช้ช้อนป้อนเด็กร่วมกัน พี่เลี้ยง สัมผัสอุจจาระ เปลี่ยนผ้าอ้อมต้องล้างมือ 2. ห้องเด็กควรเป็นห้องโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี 3. ทำความสะอาดเครื่องใช้ของเล่นเด็กด้วยสาร sodium hupochlorite โดยใช้ hypochlorite ทำให้เจือจาง 5:25% ให้เป็น 1 : 50 หรือ clorox สารละลาย คลอรีน เช็ดถูให้สะอาด (สามารถฆ่าเชื้อได้) 4. เด็กที่ป่วยต้องแจ้งให้โรงเรียนพื้นที่ ทราบ และหยุดอยู่บ้าน จนแผลทุกแห่งหาย ประมาณ 1 สัปดาห์ และมีระบบสื่อสารที่ดี กับทางโรงเรียน 5. ผู้ปกครอง ไม่พาเด็กไปที่มีคนหมู่มาก ห้าง สนามเด็กเล่น ในช่วงที่มีการระบาด 6. ความโปร่งใส ซื่อสัตย์ จิตสาธารณะ ทั้งของผู้ปกครอง และโรงเรียน 7. บอกความเป็นจริงทั้งผู้ปกครองและสถานเลี้ยงเด็ก จะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคลงได้ และ 8. เมื่อป่วย ต้องพบแพทย์” ศ.นพ.ยง กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่