อภ. ผลิตยาตำรับสมุนไพร “จันทน์ลีลา” เป็นทางเลือกใช้ลดอาการไข้ ไม่ต้องพึ่งยาพาราเซตามอล แต่ห้ามใช้ในคนสงสัยป่วยไข้เลือดออก เล็งนำยาตำรับในบัญชียาหลักฯ ผลิตสารสกัด แก้ปัญหาคุณภาพวัตถุดิบ
ภญ.ปิยพร พยัฆพรมา กลุ่มวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อคนป่วยเป็นไข้ นิยมใช้ยาพาราเซตามอลในการรักษา แต่การใช้ยาพาราเซตามอลในขนาดที่สูงเกินไป จะทำให้กลูตาไทโอน ซึ่งเป็นกลไกกำจัดพิษในตับหมดไปด้วย ส่งผลให้พาราเซตามอลส่วนเกินทำลายเนื้อตับ และจากการสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่า การใช้พาราเซตามอลในขนาดที่มากเกินไป เป็นสาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลัน ส่วนยาแอสไพรินที่ใช้ในการลดไข้อีกตัว ก็จะกัดกระเพาะ ทั้งนี้ จากการประชาชนนิยมหันมาใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกในการรักษามากขึ้น อภ. จึงมีการพัฒนายาตำรับ “จันทน์ลีลา” ที่เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติในรูปแบบยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดอาการไข้ ตัวร้อน และไข้เปลี่ยนฤดู เพื่อใช้เป็นทางเลือกทดแทนการใช้ยาพาราเซตามอล เพราะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากสมุนไพรร่างกายจะมีกระบวนการขับออกไปได้เอง ไม่เป็นพิษต่อตับ
ภญ.ปิยพร กล่าวว่า ตำรับยา “จันทน์ลีลา” มีตัวยาทั้งสิ้น 11 ชนิด ได้แก่ แก่นจันทร์แดง แก่นจันทร์ขาว รากปลาไหลเผือก บอระเพ็ด โกฐสอ โกฐเขมา และโกฐจุฬาลัมพา เป็นต้น ส่วนการรับประทานในผู้ใหญ่จะรับประทาน 2 - 4 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ส่วนในเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 - 12 ปี จะรับประทานครั้งละ 1 - 2 เม็ด และแนะนำให้ใช้ยาในหญิงที่มีไข้ทับระดู หรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน แต่ไม่แนะนำให้ผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกรับประทาน เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก และหากรับประทานยาเป็นเวลา 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรรีบไปพบแพทย์
“ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณลดไข้เช่นกัน แต่เป็นสมุนไพรเดี่ยวตัวเดียว ส่วนจันทน์ลีลาเป็นยาตำรับที่มีสมุนไพรหลายตัวรวมกัน ทำให้มีการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นพิษและประโยชน์ ถือเป็นทางเลือกที่ดีในการใช้ลดไข้ โดยเฉพาะในผู้ที่แพ้ยาลดไข้ที่เป็นยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ ในอนาคต อภ. จะมีการนำยาตำรับสมุนไพรที่มีการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติมาพัฒนาเป็นสารสกัดจำหน่ายมากขึ้น เนื่องจากการผลิตเป็นสารสกัดจะทำให้สามารถคงคุณภาพสรรพคุณได้ หากผลิตเป็นแบบทั่วไปจะมีปัญหาในเรื่องการควบคุมคุณภาพ เพราะปัญหาของการผลิตภัณฑ์สมุนไพร คือ วัตถุดิบสมุนไพรที่มาจากแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่หากผลิตเป็นสารสกัดยังไม่มีปัญหาตรงจุดนี้” ภญ.ปิยพร กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่