xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.กาญจน์แนะวิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออกแก่ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กาญจนบุรี - สสจ.กาญจนบุรี เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก แนะประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก เน้นกิจกรรม “5 ป.” ปราบยุงลาย “เปลี่ยน ปิด ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติเป็นประจำ” และ 1 ข. ขัดไข่ยุงลาย

วันนี้ (24 ส.ค.) นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ เป็นโรคติดต่อที่นำโดยแมลง มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตก และเมื่อฝนทิ้งช่วงประมาณ 5-7 วัน จะมียุงลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น และในปีนี้คาดว่าจะเป็นปีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก

โดยจากการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออก เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยการเกิดโรคย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ปี 2558 มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตมากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีดังกล่าวมาก ขณะนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึง 21 สิงหาคม 2558 พบผู้ป่วย 562 ราย (คิดเป็นอัตราป่วย 66.76 ต่อประชากรแสนคน) อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือ อำเภอศรีสวัสดิ์ สังขละบุรี ท่ามะกา เมือง และด่านมะขามเตี้ย คิดเป็นอัตราป่วย 150.49, 135.86, 110.25, 96.52 และ 60.50 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

นพ.นรินทร์รัชต์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการระบาดของโรค คือ ฝนที่ตกเป็นช่วงๆ ในขณะนี้ ถือเป็นการเติมน้ำในภาชนะที่อาจมีไข่ยุงลายสะสมอยู่ตามขอบภาชนะจำนวนมาก ประกอบกับภาวะภัยแล้ง ทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมการกักเก็บน้ำในภาชนะก็ยิ่งทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้นอีก โดยนิสัยของยุงลายเป็นยุงที่สะอาด ไข่ในน้ำนิ่งใส ไม่ไข่ในน้ำเน่าเสีย หรือท่อระบายน้ำ (ซึ่งมักเป็นยุงรำคาญไม่นำโรคไข้เลือดออก) ยุงลายไม่ได้ไข่ในน้ำโดยตรงแต่จะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตร

เมื่อมีน้ำมาเติมท่วมจึงจะแตกตัวเป็นไข่ เป็นลูกน้ำ และเป็นยุงลายตัวเต็มวัยต่อไป ใช้เวลาทั้งหมด 7-10 วัน ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรณรงค์ให้กำจัดลูกน้ำทุกสัปดาห์เพื่อตัดวงจรการเกิดยุง ยุงลายจะไม่ไข่เหนือสภาพน้ำที่เป็นกรด หรือเป็นด่างมากจนเกินไป เช่น การใช้ผลมะกรูดบากผิวใส่ลงในภาชนะขังน้ำ 1 ลูกต่อพื้นที่น้ำ 40 ตารางนิ้ว เปลี่ยนทุก 2 วัน หรือใช้ปูนแดง ปั้นขนาดเท่าลูกปิงปองตากให้แห้ง 3 วัน 1 ก้อน ใส่โอ่งมังกร 1 ใบ เปลี่ยนทุกเดือน หรือใช้เทคนิคการเปิดน้ำให้เต็มภาชนะจนไม่เหลือพื้นที่ขอบภาชนะให้ยุงลายวางไข่ เป็นต้น การจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยวิธี 5 ป. 1 ข. อย่างจริงจังสม่ำเสมอจะสามารถทำให้ชุมชนปลอดลูกน้ำยุงลาย และห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกได้ยั่งยืน

นพ.นรินทร์รัชต์ กล่าวต่ออีกว่า ขอความร่วมมือจากประชาชน และภาคีเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งมักเป็นแหล่งน้ำภายในบ้านและรอบบริเวณบ้าน ได้แก่ น้ำใช้ในห้องน้ำห้องส้วม ขารองตู้กับข้าว แจกันดอกไม้ แหล่งน้ำขังบริเวณบ้าน เป็นต้น ด้วยวิธีง่ายๆ ตามแนวทาง “5 ป. 1 ข.” (เปลี่ยน ปิด ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติเป็นประจำ และขัดไข่ยุงลาย)

ดังนี้ “ปิด” ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักใช้น้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ “เปลี่ยน” เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง “ปล่อย” ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และ 1 ข. ขัดไข่ยุงลาย เนื่องจากยุงลายจะไข่เหนือระดับน้ำ 1-2 เซนติเมตรนั้น เมื่อมีน้ำมาเติมจนท่วมหลังไข่ก็จะฟักตัวเป็นลูกน้ำ แต่หากไม่มีน้ำมาเติมจนท่วมถึงก็จะแห้งติดผนังภาชนะอย่างนั้นได้นานเป็นปี และเมื่อมีน้ำมาท่วมเมื่อใด ไข่ก็พร้อมจะแตกตัวเป็นลูกน้ำภายในได้ใน 30 นาที ซึ่งยุงตัวเมีย 1 ตัวไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง 4-6 ครั้งในช่วงชีวิตประมาณ 60 วันของยุง

ฉะนั้น ยุงตัวหนึ่งจะมีลูกได้ราว 500 ตัว จึงจำเป็นต้องมีการขัดไข่ยุงลายในภาชนะด้วย โดยใช้ใยขัดล้าง หรือแปรงชนิดนุ่มช่วยในการขัดล้าง และทิ้งน้ำที่ขัดล้างนั้นบนพื้นดินเพื่อให้ไข่แห้งตายไปไม่ควรทิ้งลงท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งน้ำใสนิ่งทำให้ไข่บางส่วนรอด และเจริญเป็นลูกน้ำและยุงลายได้อีก

“หากพบผู้ป่วยมีไข้ กินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลด 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อก และเสียชีวิต และหลังการรักษาโรคไข้เลือดออกแล้วช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 หากผู้ป่วยซึมลง กินดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาหาแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที ที่สำคัญโรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีนใช้ในการฉีดป้องกันโรค จึงต้องรักษาแบบช่วยประคองตามอาการจนกว่าผู้ป่วยฟื้นตัว และหายจากอาการป่วย”

“สำหรับการดูแลผู้ป่วยในระยะ 1-2 วันแรกที่มีไข้สูง ขอให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา กินยาพาราเซตามอล ยาที่ห้ามกินเด็ดขาดคือ แอสไพริน และไอบูโปรเฟน เพราะจะกัดกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก และไม่ควรกินน้ำ หรือผลไม้ที่มีสีแดง เช่น น้ำแดง แตงโม เนื่องจากจะทำให้แยกอาการเลือดออกในกระเพาะ และลำไส้ได้ยากขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค และให้การรักษาอย่างถูกต้อง” นพ.นรินทร์รัชต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น