กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เนรมิตพื้นที่ชั้น 3 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ให้เป็นประตูสู่ “ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน” แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่มีชีวิตแห่งแรกในอาเซียน
เชื่อว่า หลายคนอยากรู้ว่าศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนแห่งนี้ มีอะไรน่าสนใจบ้าง นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เล่าว่า ศูนย์แห่งนี้จะเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ภาษา อาหาร เครื่องแต่งกาย และอื่น ๆ ของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุส-ซาลาม เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา และไทย
ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนได้จัดแสดงนิทรรศการถาวรที่มีชีวิตใน 6 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 นำเสนอสารคดีเรื่องสั้น “เราอยู่ร่วมกัน” (The Melting Pot of ASEAN Ciltures) เพื่อสร้างความเข้าใจในบริบทวัฒนธรรมร่วม อันน่าตื่นตาของอุษาคเนย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยจัดแสดงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ส่วนที่ 2 นำเสนอข้อมูลประชาคมอาเซียนชุด “ผูกพันหนึ่งเดียว” (We are ASEAN) ร้อยเรียงเหตุการณ์สำคัญด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านจอภาพขนาดใหญ่
ส่วนที่ 3 “เที่ยวไปในอาเซียน” (The ASEAN Street) เป็นการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาสร้างประสบการณ์แห่งวัฒนธรรมอาเซียน โดยมี โซน “เข้ามาทักทาย” การทักทายด้วยภาษา 10 ชาติอาเซียน, โซน “อยู่สบายอาเซียน” เปิดประตูสู่สถานที่ต่าง ๆ ในอาเซียน, โซน “เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย” นำเทคนิควิดีโอเสมือนจริง มาให้ผู้ชมได้สวมใส่ชุดแต่งกายประจำชาติ ทั้ง 10 ประเทศ และโซน “หลากหลายจานเด่น” เป็นภาพสามมิติของอาหารอาเซียนอันหลากหลายผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง สอดแทรกความรู้ละความสนุกสนาน
“เที่ยวไปในอาเซียน จะได้รับความสนใจจากผู้เข้าชม เพราะสามารถสวมชุดประจำชาติ ภายในไม่กี่วินาที และยกมือถือขึ้นมาถ่ายภาพตัวเองเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้อีกด้วย นอกจากนี้ เรายังสามารถเปิดประตูสู่ประเทศสมาชิกอาเซียน เหมือนเราได้ไปเที่ยวประเทศนั้นจริง ๆ เมื่อเดินเที่ยวสถานที่สำคัญ ๆ ของแต่ละประเทศแล้ว อีกมุมหนึ่งซึ่งใกล้ ๆ กัน มีเมนูจานเด่นของแต่ละประเทศด้วย เพียงถือจานซึ่งเขียนชื่อประเทศ แล้วไปยืนตรงจุดที่กำหนด สักครู่จะแสดงเครื่องปรุง วัตถุดิบว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นจะขึ้นรูปอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว” นายวีระ กล่าว
ส่วนที่ 4 นิทรรศการ “หมุนเวียนเปลี่ยนเรื่อง” (Temporary Exhibition) นำเสนอเรื่องราวฟ้อนข้าวแห่งอุษาคเนย์ และจะมีการเสนอศิลปวัฒนธรรมในแง่มุมใหม่ๆสลับสับเปลี่ยนกันไป
ส่วนที่ 5 ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ “เรียนรู้ในสวน” (ASEAN E-Library Park) ซึ่งเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศที่น่าสนใจทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และสามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ www.elibrary-acc.com ได้ด้วย
ส่วนที่ 6 ห้องปฏิบัติการวัฒนธรรม “ชวนกันสร้างสรรค์” (Cultural Knowledge Lab) พื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม
นายวีระ กล่าวว่า ภายในศูนย์ยังมีการจัดแสดงศิลปวัตถุทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่ได้รับมอบจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียน และโบราณวัตถุจากกรมศิลปากร แน่นอนศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนเป็นแหล่งศึกษาทาง ด้านศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนให้กับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย
นายวีระ บอกว่า ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน จะมีปรับเปลี่ยนนิทรรศการบางส่วน โดยนำเรื่องใหม่ ๆ มาจัดแสดง ทุก ๆ 3 เดือน เพราะฉะนั้นผู้เข้าชมจะได้สัมผัสมรดกวัฒนธรรมอาเซียนไม่ซ้ำกัน และเร็ว ๆ นี้ จะได้สัมผัสมรดกวัฒนธรรมร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างเช่นการเล่นว่าว การแสดงหุ่น ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น
ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน เปิดให้เข้าชมฟรี วันอังคาร - วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 10.00 - 17.00 น.(หยุดวันจันทร์และวันนักขัตฤกษ์) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 09 2248 2429 หรือ wemaster@m-culture.go.th
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่