xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้ดูสนุกกับเพื่อนบ้านอาเซียน ที่ “ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วีดิทัศน์เล่าเรื่องราวของประชาคมอาเซียน
“One Vision, One Identity, One Community” (หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม) เป็นคำขวัญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง เหมือนกับฉันที่เคยได้ยินมา แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไหร่นัก

แต่เมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนมีเป้าหมายที่จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ให้สำเร็จภายในปีนี้ (พ.ศ.2558) ซึ่งก็นับว่าเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนที่พวกเราจะรวมเป็นประชาคมเดียวกันแล้ว ก็ถึงเวลาที่ฉันจะต้องไปเรียนรู้และทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านของเราให้ลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเดิม

ใครที่อยากรู้จักและเข้าใจเพื่อนของเรามากขึ้น ตามฉันมาได้เลยที่ “ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน” ที่ตั้งอยู่ ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง
เรียนรู้เพื่อนบ้านอาเซียน
ที่นี่ถือเป็นศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีการจัดนิทรรศการในรูปแบบที่มีชีวิตและจับต้องได้อยู่บนพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร และผสมผสานเทคโนโลยีมัลติมีเดียที่ทันสมัย เข้ากับเรื่องราวความรู้ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้พวกเราได้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น

เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 3 ของอาคารหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ก็จะเจอเจ้าหน้าที่ที่จะมาให้คำแนะนำในการเดินชมส่วนต่างๆ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 6 โซน โซนแรกเรียกว่า “เราอยู่รวมกัน” (The Melting Pot of ASEAN Culture) เป็นจุดที่ฉันได้นั่งชมวีดิทัศน์ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในดินแดนอุษาคเนย์ หรือดินแดนอาเซียนของเรานี่เอง ในวีดิทัศน์จะอธิบายประวัติศาสตร์และการก่อร่างสร้างเมืองในดินแดนแถบนี้ให้เราได้เข้าใจ พร้อมกับเล่าถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมร่วมกันของชาวอุษาคเนย์ด้วย
โซนมรดกของเรา
จบจากวีดิทัศน์สวยๆ แล้ว ก็มาทำความรู้จักกับประเทศสมาชิกอาเซียนให้มากขึ้นที่โซน “ผูกพันหนึ่งเดียว” (We are ASEAN) ซึ่งโซนนี้จะบอกเล่าถึงการกำเนิดประชาคมอาเซียน มีการลำดับเหตุการณ์ของประชาคมอาเซียน รวมถึงข้อมูลทั่วไปของประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ โดยเราสามารถเลือกจิ้มไปที่ธงชาติของประเทศที่เราต้องการรู้ ก็จะมีข้อมูลพร้อมเสียงบรรยายกับรูปภาพสวยๆ ของประเทศนั้นๆ ให้เราได้ดูกัน
หนังใหญ่ ศิลปะที่มีร่วมกันของหลายชาติ
ถัดมาเป็นโซนที่สาม “เที่ยวไปในอาเซียน” (The ASEAN Streets) โซนนี้จะมีสิ่งที่น่าสนใจหลากหลายอย่าง เริ่มจาก “มรดกของเรา” อันเป็นมรดกที่ถูกหลอมรวมมาจากประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกัน สะท้อนถึงอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของช่างฝีมือ ศิลปิน กวี นักประพันธ์ และนักดนตรี ซึ่งมีการจัดแสดงเทศกาลและการแสดงพื้นบ้านต่างๆ ที่หลายประเทศมีร่วมกัน อย่างเช่น เทศกาลลอยกระทง ก็ไม่ได้มีที่ประเทศไทยที่เดียว แต่ยังมีการจัดในพม่า ลาว และกัมพูชา หรือจะเป็น หนังใหญ่ ที่มีความวิจิตรบรรจงในการแกะสลักแผ่นหนังออกมา นำมาประกอบกับการแสดง บทขับร้อง และดนตรีปี่พาทย์ ซึ่งก็มีให้เห็นทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา
ลองเปลี่ยนชุดแต่งกายประจำชาติ
ใกล้ๆ กันก็เป็นจุด “เข้ามาทักทาย” ที่เป็นมัลติมีเดีย สามารถไปสัมผัสที่ธงของแต่ละประเทศ แล้วก็จะมีวีดิทัศน์เสียงคำทักทายของคนแต่ละประเทศมาให้ฟัง แต่ถ้าอยากรู้ว่าแต่ละประเทศเขาแต่งกายกันอย่างไร ก็ต้องมาที่จุด “เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย” ซึ่งเราสามารถสวมชุดประจำชาติของแต่ละประเทศได้เลย

ฉันเองลองไปยืนอยู่ตรงจุดที่กำหนดไว้ แล้วก็เลือกประเทศที่ต้องการ เทคโนโลยีล้ำๆ ก็จะพาเครื่องแต่งกายประจำชาติที่เลือกมาสวมอยู่บนตัวในจอใหญ่ๆ จะหันซ้ายหันขวาชุดก็จะตามตัวเราไปด้วย ฉันเองก็ลองชุดเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่หลายประเทศ เรียกว่าลองชุดไปถ่ายรูปไปอย่างสนุกสนานเลยทีเดียว
อาหารอร่อยของชาวอาเซียน
ทักทายกันแล้ว เปลี่ยนชุดก็แล้ว หันมาดูเรื่องอาหารการกินกันบ้างดีกว่า เพราะแต่ละประเทศเขาก็มีอาหารจานอร่อยที่แตกต่างกันไป อย่างประเทศไทยนั้นก็เป็นต้มยำกุ้ง ลาวเป็นส้มตำ พม่าเป็นหล่าเพ็ด ซึ่งนอกจากจะมีข้อมูลบอกในป้ายแล้ว เราก็สามารถหยิบจานที่มีธงของแต่ละประเทศมาแสกนที่หน้าจอ ก็จะมีเครื่องปรุงต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมในอาหารจานนั้นมาแสดงให้เห็น ผ่านการปรุง แล้วก็ออกมาเป็นอาหารจานเด็ดน่ากิน
นิทรรศการข้าว
อีกมุมหนึ่งของศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ก็เป็นโซน “หมุนเวียนเปลี่ยนเรื่อง” (Temporary Art & Culture Exhibition) ที่จะจัดเป็นนิทรรศการเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้เราได้ชม โดยตอนที่ฉันไปนั้นเป็นเรื่องของข้าว ที่แต่ละประเทศในอาเซียนก็จะมีพันธุ์ข้าวของตัวเอง มีความเชื่อเรื่องข้าวที่แตกต่างกันไป แถมเมนูต่างๆ ที่ถูกปรุงมาจากข้าวนั้นก็มีหลากหลายด้วย
นั่งสบายๆ ในสวนสีเขียว
จุดต่อมาเป็นสวนสีเขียวๆ เรียกว่าโซน “เรียนรู้ในสวน” (ASEAN E-Library Park) ที่จัดทำเป็นสวนน่านั่ง ทำหญ้าเป็นขั้นบันไดให้นั่งคุยและขบคิดกัน แล้วก็ยังมีหนังสือและสารคดีต่างๆ ให้เลือกดูเลือกชมกันในเรื่องราวเชิงศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอาเซียน
มงกุฎนางอัปสราจากกัมพูชา
โซนสุดท้าย “ชวนกันสร้างสรรค์” (Cultural Knowledge Lab) เป็นโซนที่เปิดโอกาสให้ได้สนุกและเรียนรู้ไปกับศิลปวัฒนธรรมในอาเซียน อ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทางศูนย์จัดขึ้น แต่สำหรับช่วงนี้ มีการจัดแสดง “ศิลปวัตถุอาเซียน” ที่รวมรวมสิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศมาให้ชมกัน อย่างเช่น มงกุฎนางอัปสราจากกัมพูชา หรือจะเป็น รองเท้าลูกปัดของชาวเปอรานากัน จากสิงคโปร์ ซึ่งแต่ละชิ้นก็นับว่ามีความงดงาม ทรงคุณค่า และแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่สืบสานต่อกันมาจนปัจจุบัน

เดินดูจนครบทั่วทั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนแล้ว ฉันก็เริ่มเข้าใจเพื่อนบ้านอาเซียนของเรามากขึ้น นอกจากจะมีบริเวณอยู่ใกล้ชิดติดกันแล้ว เรายังมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีวัฒนธรรมที่หลอมรวมมาร่วมกัน จนกระทั่งกลายเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ และถึงแม้ว่าจะมีเขตแดนกั้นระหว่างกัน แต่ฉันก็เชื่อว่า ชาวประชาคมอาเซียนนั้นสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบและมีความสุข
รองเท้าลูกปัดของชาวเปอรานากัน จากสิงคโปร์
* * * * * * * * * * * * * * * * *

“ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน” ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม. เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 10.00-17.00 น. สามารถเข้าชมได้ฟรี โทร. 0-2422-8943, 0-2422-8947, 09-2248-2429




* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น