“เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ” ครูวิทยาศาสตร์ จ.สุราษฎร์ธานี คว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เตรียมเข้ารับพระราชทานรางวัลพร้อมสุดยอดครู 10 ประเทศอาเซียน และติมอร์เลสเต ต้นเดือนตุลาคมนี้
วันนี้ (4 ส.ค.).ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แถลงผลการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2558 เป็นครั้งแรก ว่า ในการประชุมสามัญประจำปี 2558 คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานกิตติมศักดิ์ เป็นประธานในการประชุม ได้มีวาระสำคัญในการให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 (ปี 2558) ของ 10 ประเทศในอาเซียน และติมอร์เลสเต รวม 10 ราย และประเทศไทย 1 ราย รวมทั้งสิ้น 11 ราย
สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลแต่ละประเทศ ดังนี้ 1. บรูไนดารุสซาลาม มาดาม ฮาจา รัตนาวาติ บินติ ฮาจิ โมฮัมมัด ครูการศึกษาพิเศษโรงเรียนประถม Keriam ผู้ริเริ่มการนำนวัตกรรมมาสอนเด็กพิการเรียนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ โดยชักชวนผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจนได้รับรางวัลครูดีเลิศจากสุลต่านแห่งบรูไน 2. กัมพูชา นางสาวทอช บันดาว ครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาใน Wat-Bo Primary School ครูที่เน้นการสอนโดยใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลางผ่านเทคนิคสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียน และให้ความสำคัญกับเด็กเรียนรู้ช้าโดยการสร้างเครื่องมือช่วยสอนเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้จนได้รับรางวัลชนะเลิศครูที่มีความโดดเด่นในระดับชาติ
3. อินโดนีเซีย นายเฮอร์วิน ฮามิด ครูสอนวิทยาศาสตร์และหัวหน้าห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โรงเรียน Junior High School Kendari มีผลงานโดดเด่นในการประยุกต์ใช้ Smart Phone เพื่อการศึกษา และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์จนได้รับรางวัลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับภูมิภาคของประเทศ 4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นางวงสัมพัน คำส้อย ครูสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และรัฐศาสตร์ โรงเรียนมัธยมเวียงจันทน์ เน้นการพัฒนานักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำให้มีการพัฒนาตนเอง มีทักษะและมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงนักเรียน
5. มาเลเซีย นายไซนุดดิน ซาคาเรีย ครูสอนเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนมัธยม Taman Bukit Maluri ผู้พัฒนาหลักสูตร ICT ของกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูผู้สอนการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเทคโนโลยีและการสื่อสารในระดับชาติ 6. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นางสาวยี มอน ซอร์ ครูระดับอาวุโส โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนหล่าย ทาร์ ยา ย่างกุ้ง สอนทั้งวิชาการและการประกอบอาชีพให้แก่ลูกศิษย์ จนมีความโดดเด่นได้รับการยอมรับอย่างมากจากเพื่อนครูและคนในชุมชน
7. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายวิลเลียม โมราคา ครูใหญ่ Klolang Elementary School นักจัดการชั้นเรียนสมัยใหม่ให้แก่โรงเรียนชั้นประถมศึกษา และเป็นนักพัฒนานวัตกรรมผลิตสื่อการสอนต้นทุนต่ำให้แก่โรงเรียนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลมาอย่างต่อเนื่อง 8. สาธารณรัฐสิงคโปร์ นางหวัง ลิม ไอ่ เหลียน ครูใหญ่โรงเรียนประถม Holy Innocents’ Primary School ผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ผู้เน้นการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มเรียนรู้ช้า ผู้ริเริ่มโครงการนำร่องด้วยการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน วิจัยและพัฒนาหลักสูตรเฉพาะสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ
9. ติมอร์ เลสเต นายจูลีโอ ไซเมน มาเดียรา ครูสอนในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม ผู้ที่สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ ในชุมชน และสามารถดึงพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมจัดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี 10. เวียดนาม นางทราน ติ ตวย ดุง ครูใหญ่และครูสอนวิชาภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา ที่ Le Ngoc Han Primary School ผู้ริเริ่มทำให้เกิดต้นแบบโรงเรียนประถมรูปแบบใหม่ หรือ “เวียดนามนิวสคูลโมเดล” เผยแพร่ไปยังโรงเรียนประถมศึกษามากกว่า 3,000 แห่ง ผ่านระบบการจัดการที่มีความยืดหยุ่น เน้นทักษะชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในชั้นเรียน และจัดชั้นเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์ ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนที่ทันสมัย
ส่วนประเทศไทย นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูเชี่ยวชาญกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ครูคนแรกของประเทศที่จะได้รับพระราชทานรางวัลนี้ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์และเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้เรียนจะตั้งคำถามและหาคำตอบ หรือแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองจากสิ่งที่อยู่ในชุมชนจนประสบผลสำเร็จได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น การทำไบโอพลาสติกจากเกล็ดปลา ผลงานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรู้จักประเทศไทย จนมีการนำชื่อของนักเรียนโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จำนวน 3 คน ไปตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย 3 ดวงที่พบใหม่ในระบบสุริยะจักรวาล
ทั้งนี้ ครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้ง 11 คน จาก 11 ประเทศ จะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการในวันที่ 2 ตุลาคมนี้
นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังได้คัดเลือกครูเพื่อรับรางวัลคุณากร จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายชาตรี สำราญ ครูเชี่ยวชาญ จังหวัดยะลา “ครูผู้สร้างการเรียน ผู้อุทิศทั้งชีวิตเป็นครูทุกลมหายใจ” และนางณัชตา ธรรมธนาคม ครูนาฏศิลป์ โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ กรุงเทพฯ “ครูผู้ขุดเพชรในโคลนตม สร้างคนดีด้วยหัวใจ”
ด้าน นายเฉลิมพร กล่าวว่า ตนรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและเป็นรางวัลสูงสุดของชีวิต เพราะเป็นรางวัลที่รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนเทคนิคการสอนของตน จะเน้นจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นสื่อในการสร้างกระบวนการคิด เพราะเมื่อเด็กคิดดี คิดเป็นจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้
“ผมมองว่า ความสำเร็จของลูกศิษย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เห็นลูกศิษย์มีหน้าที่การงานที่ดี เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ เราดูแลต้นไม้จนออกดอกออกผล” นายเฉลิมพร กล่าวว่า ผมจะทำหน้าที่เป็นครูให้ดีที่สุด โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรค หากเราคิดถึงปัญหาอุปสรรคจะทำให้เราทำงานต่อไปไม่ได้ จงทำงานภายใต้ข้อจำกัด อยากฝากบอกเพื่อนครูอย่ารอให้ทุกอย่างพร้อม แต่ทำภายใต้ไม่พร้อมแต่ทำให้ดีที่สุด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่