xs
xsm
sm
md
lg

UN คาด ศก.ไทยปีนี้โตได้ 3.9% แกร่งกว่าสิงคโปร์ ส่วนจีนอาจโตลดเหลือ 7%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เผยรายงานฉบับล่าสุดในวันอังคาร (13 ม.ค.) โดยระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกมีแนวโน้มจะเติบโตเฉลี่ยที่ 5.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015 นี้ ถือเป็นตัวเลขการเติบโตของจีดีพีซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ 5.6 เปอร์เซ็นต์ที่มีการคาดการณ์เอาไว้เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อปี 2015 ของภูมิภาคมีแนวโน้มลดลงเหลือ 3.5 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยพุ่งแตะระดับ 3.9 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว

รายงานเชิงสำรวจของเอสแคปซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1947 และมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วในปีนี้ อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกจะอยู่ที่ 5.8 เปอร์เซ็นต์แม้สาธารณรัฐประชาชนจีน ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียจะถูกระบุว่า อาจประสบภาวะการหดตัวของจีดีพีจากที่เคยเติบโตที่ระดับ 7.3 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว เหลือเพียง “7.0 เปอร์เซ็นต์” ในปี 2015 นี้ ขณะที่ “ยักษ์หลับทางเศรษฐกิจ” อย่างอินเดียที่เริ่มฟื้นตัวอย่างสำคัญถูกระบุว่า จะมีการเติบโตที่ระดับ 6.4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

ข้อมูลจากรายงานล่าสุดระบุว่า ในปี 2015 นี้ ประเทศที่คาดว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คือ ปาปัวนิวกินี ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวของจีดีพีสูงถึงระดับ “15.5 เปอร์เซ็นต์” ตามมาด้วยเติร์กเมนิสถาน (11.5%), เขตปกครองพิเศษมาเก๊า (9.0%), พม่า (8.5%) และติมอร์เลสเต (8.0%) ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลของเอสแคประบุว่า ปี 2015 อาจมิใช่ปีทองสำหรับเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หลังคาดการณ์ว่าชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกทั้งสองชาติจะมีการเติบโตของจีดีพีในปีนี้เพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในกรณีของญี่ปุ่น และ 3.8 เปอร์เซ็นต์ในกรณีของเกาหลีใต้

ในส่วนของประเทศไทย เอสแคปคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการเติบโตที่ต่ำเตี้ยเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2014 และมีแนวโน้มที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2015 จะสูงกว่าทั้งสิงคโปร์ (3.1%) และบรูไน (2.5%)

ทั้งนี้ เอสแคประบุว่า การดิ่งลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยรวมถึงหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้า “พลังงาน” และการดิ่งลงของราคาน้ำมันถือเป็นปัจจัยเชิงบวกที่จะมีผลสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกในระยะ 6-12 เดือนจากนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น