กรมควบคุมโรค ชู โครงการ HIVQUAL-T เพิ่มคุณภาพการรักษาเอดส์ ชี้ ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่หาเชื้อ ให้คำแนะนำ ติดตามการกินยา พร้อมวิเคราะห์แก้ปัญหาให้ผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ระบุทุกโรคควรมีการประกันคุณภาพการรักษา ช่วยผู้ป่วยได้รับบริการดีขึ้น
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายในงานสัมมนาวิชาการระดับประเทศ การพัฒนาคุณภาพบริการการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ก้าวไปด้วยกัน สร้างสรรค์คุณภาพ” ว่า การพิจารณาว่าการให้บริการด้านสุขภาพนั้นดีหรือไม่ จะวัดที่ปริมาณคือสามารถให้บริการผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมากเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานด้วย โดยผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขจะต้องติดตามดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยตั้งแต่ต้นไปจนถึงจบคอร์สในการรักษา เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งในส่วนของโรคเอดส์ มีการดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ของประเทศไทย (HIVQUAL-T) ซึ่งถือเป็นโรคแรกที่นำร่องในการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษา เพราะเป็นโรคที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตทางเพศ และผู้รับบริการต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
นพ.สมบัติ กล่าวว่า โครงการ HIVQUAL-T ดำเนินการมาแล้วประมาณ 12 ปี ครอบคลุมโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วกว่าร้อยละ 80 - 90 แต่เป็นในลักษณะของความสมัครใจ ไม่ได้เป็นการบังคับ ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวก็คล้ายกับการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ทั่วไป คือ บุคลากรทางการแพทย์จะดูแลตั้งแต่การเข้ามาตรวจหาเชื้อเอชไอวี การให้คำแนะนำ ไปจนถึงการรักษา การติดตามการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากผู้ป่วยหยุดยาโดยที่แพทย์ไม่ทราบก็อาจมีปัญหาเชื้อดื้อยา เรียกได้ว่าเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจนครบสูตรในการรักษา แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ หากพบปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ ก็จะต้องมีการลงไปเก็บข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ผลว่าปัญหาคืออะไร จะแก้ปัญหาได้อย่างไร มีการจัดตั้งเป็นโครงการ กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ ซึ่งบุคลากรจะได้รับการฝึกในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ทำให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์เป็นไปอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่การดำเนินการได้นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนบุคลากรและความพร้อมของโรงพยาบาลด้วย
“ ก่อนที่จะมีโครงการพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวี 10% จะมีอาการป่วยโรควัณโรคร่วมด้วย แต่มักไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง อย่างไรก็ตาม หลังจากการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งใส่ใจทุกปัญหา ทุกรายละเอียดของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ปัญหาเรื่องนี้ก็ลดลงไปมากกว่า 90% ทั้งนี้ มองว่าทุกโรค ทุกการรักษาจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน เพราะเมื่อมีการดำเนินการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (HA) เป็นจำนวนมากแล้ว ก็ควรมีการประกันคุณภาพเฉพาะโรคด้วย เหมือนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องมีการประเมินคุณภาพ ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีขึ้น ” นพ.สมบัติ กล่าวและว่า ล่าสุด คร. ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการประกันคุณภาพเฉพาะโรค หรือ DSC ในการดูแลรักษาโรคเอดส์แล้ว ซึ่งเข้มข้นกว่าการทำ HIVQUAL-T เพราะมีการดำเนินการเรื่องการป้องกันด้วย ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลและการรักษา ขณะนี้มีโรงพยาบาลนำร่องแล้ว 12 แห่ง ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งจะวัดผลในปี 2559
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่