นายกฯ ร่วมพิธีเปิดประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 6 หวังความสำเร็จของกลุ่มจะเป็นรากฐานต่อยอดสู่อาเซียน เน้นการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและลอจิสติกส์ครบวงจร รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้เป็นรูปธรรม เพื่อประชาชนของภูมิภาค ขอบคุณรัฐบาลต้อนรับอย่างอบอุ่น แนะช่วยกันจัดลำดับความสำคัญในโครงการเร่งด่วน ต้องจริงใจและไว้เนื้อเชื่อใจกัน ร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เมื่อ เวลา 08.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 6 โดยมีนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า เป็นประธานการประชุม ซึ่งก่อนเข้าร่วมประชุม ผู้นำทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมเกี่ยวกับประเด็นการทบทวนความร่วมมือในกรอบ ACMECS และทิศทางความร่วมมือในอนาคตว่า ปลายปีนี้จะมีการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความสำเร็จของ ACMECS จะเป็นรากฐานความสำเร็จต่อยอดสู่อาเซียน จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดทิศทางความร่วมมือของ ACMECS ให้เอื้อต่อการเป็นประชาคมอาเซียนให้ได้มากที่สุด
นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมและระบบลอจิสติกส์ที่ได้มาตรฐานสากลและครบวงจร เพื่อการเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้สมบูรณ์รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณชายแดน จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมให้แก่ภาคธุรกิจ และสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความร่วมมือที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นสู่จุดหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เชื่อมั่นว่าการประชุมผู้นำวันนี้ เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะพยายามต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อมองในอนาคตเรายังมีภารกิจร่วมกันอีกมากที่ต้องทำร่วมกันให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ในปฏิญญาพุกามและปฏิญญาอื่นๆ เพื่อให้การรวมกันของอาเซียนเป็นไปอย่างราบรื่นและสมบูรณ์
“วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะร่วมกันกำหนดทิศทางและจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเน้นการดำเนินโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และให้ผลที่เป็นรูปธรรม นอกจากนั้นเราต้องมีความจริงใจ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เป็นมิตรและเป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกัน ไม่ใช่คู่แข่ง เราจะต้องร่วมมือกันเพื่อสิ่งที่ดีกว่าของประชาชนของเรา โดยร่วมกันทำหน้าที่เป็นผู้นำแห่งความร่วมมือ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ACMECS ตั้งขึ้นเพื่อประชาชนในภูมิภาคนี้ทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อประเทศหนึ่งประเทศใด การรวมตัวกันและร่วมมือกันเพื่อนำความเจริญและการพัฒนาที่ยั่งยืนและถาวรมาสู่ภูมิภาค เพื่อยังประโยชน์ไปสู่ประชาชนของทุกประเทศอย่างแท้จริง จึงขอให้วางใจและเชื่อมั่นว่า ACMECS จะก่อประโยชน์ร่วมกันแก่ทุกฝ่ายประชาชนทุกประเทศ ทุกหมู่เหล่าจะได้ผลจากการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
“เราไม่ควรหยุดเป้าหมายอยู่เพียงการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนเท่านั้น แต่จะต้องมองไปให้ไกลกว่าเดิมและก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง เราควรใช้ ACMECS เป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมและผลักดันให้ทุกประเทศสมาชิก บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระแห่งการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 ของสหประชาชาติ ทั้งนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือ ACMECS และอาเซียน เพื่อความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืนของประเทศและประชาชนของเราต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ภายหลังการประชุม พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าการต้อนรับอย่างอบอุ่น และยินดีที่ได้มาเข้าร่วมการประชุม ฯ ผู้นำได้กลับมาพบกันที่พม่าอีกครั้ง หลังจาก 12 ปีแห่งการริเริ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งแรก ณ เมืองพุกาม ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จะเป็นการทบทวนการร่วมมือที่ผ่านมา และอนาคตที่จะมีร่วมกันต่อไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปีนี้ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ ความร่วมมือใน 8 สาขา และความเป็นปึกแผ่นของสมาชิก ACMECS จะเป็นพื้นฐานความสำคัญที่สนับสนุนการรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนกว่าหนึ่งทศวรรษ ของความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาค ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในทางที่ดี ที่ผ่านมามีความมุ่งมั่นในการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง ทั้งกายภาพและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พื้นที่ชายแดนและพื้นที่ต่างๆ มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสามารถพัฒนา ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตในพื้นที่ เราต้องร่วมสร้างและพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนเชื่อมโยงเขคเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เหล่านี้ด้วยกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความเชื่อมโยงอย่างเต็มศักยภาพ แปรสภาพระเบียงขนส่งให้กลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และรวมทั้งผลักดันความร่วมมืออีก 7 สาขา ทั้งการเกษตร ท่องเที่ยว พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสาธารณสุขด้วย ความร่วมมือต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆ ให้ทั่วถึง ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เราต้องก้าวไปด้วยกัน ที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นสู่จุดหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมมาก
การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งนี้ ยืนยันความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อมองไปอนาคตที่ต้องทำร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายตามปฏิญญาพุกามและปฏิญญาอื่นๆ เพื่อให้การรวมตัวของอาเซียนราบรื่นและสมบูรณ์ วันนี้จึงมาร่วมกันกำหนดทิศทางและและจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือในอีก 2 ปีข้างหน้า เน้นการดำเนินโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนให้ผลเป็นผลธรรม (early havest) เราต้องมีความจริงใจและความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นมิตรเป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกัน มิใช่คู่แข่ง โดยร่วมกันทำหน้าที่เป็น “ผู้นำแห่งความร่วมมือ”
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประชาชนคือหัวใจของการพัฒนาอย่างแท้จจริง ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการให้ทุนการศึกษา และฝึกอบรม เพิ่มขีดความสามารถและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคแรงงานและการเกษตร ACMECS ตั้งขึ้นเพื่อประชาชนในภูมิภาคของเราทั้งหมด มิใช่ประเทศใด ประเทศหนึ่ง การรวมตัวกันและร่วมมือเพื่อนำความเจริญและการพัฒนาอย่างยั่งยืนและถาวรมาสู่ภูมิภาค เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทุกประเทศอย่างแท้จจริง ขอให้ทุกคนวางใจและเชื่อมั่นว่า ACMECS จะก่อประโยชน์ร่วมกันแก่ทุกฝ่าย จะได้ผลจากการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป้าหมายไม่หยุดแค่ประชาคมอาเซียน แต่ต้องมองไปให้ไกลกว่าเดิมและก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง ประชาชนมีความพร้อมและขีดความสามารถที่จะปรับตัวและรับประโยชน์จากทิศทางแนวโน้มของโลก (Global trends and gravity) ACMECS จะเป็นกลไกหนึ่งในการส่งเสริมและผลักดันทุกประเทศให้บรรลุ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (Post 2015 Development Agendas) ของสหประชาชาติด้วย