xs
xsm
sm
md
lg

“ศิลปิน” เสี่ยง “ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย” สูงกว่าคนทั่วไป 10-18 เท่า เหตุถูกคาดหวัง รักษาภาพพจน์ วอนอย่าคุ้ย “สิงห์” ฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผลการศึกษาพบอัตราการฆ่าตัวตายศิลปิน นักเขียน สูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
จิตแพทย์วอนอย่าขุดคุ้ยสาเหตุคนฆ่าตัวตาย ชี้ สร้างความเสียใจให้ครอบครัว เผย “นักเขียน - ศิลปิน” เสี่ยงโรคซึมเศร้า - ฆ่าตัวตาย สูงกว่าคนทั่วไป 10 - 18 เท่า เหตุไม่กล้าปรึกษาปัญหาชีวิต หวั่นกระทบภาพลักษณ์ คนรอบข้างคาดหวังสูง ขอมองศิลปินดาราเป็นคนธรรมดา

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีนายประชาธิป มุสิกพงศ์ หรือ สิงห์ มือกีตาร์วงสควีซ แอนิมอล (Sqweez Animal) อายุ 31 ปี กระโดดตึกฆ่าตัวตาย ว่า จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตปี 2556 พบว่า คนไทยฆ่าตัวตายกว่า 3,900 รายต่อปี เฉลี่ยคนไทยฆ่าตัวตาย 1 คน ทุก 2 ชั่วโมง โดยช่วงอายุที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ 30 - 39 ปี โดยผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 3.8 เท่า โดยเกือบ 90% ของผู้ฆ่าตัวตายต้องการความช่วยเหลือในด้านสุขภาจิตขณะนั้น โดย 2 ใน 3 มีอาการของโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษา ที่สำคัญคือ จากการศึกษาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พบว่า นักเขียนและศิลปิน เมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 8 - 10 เท่า และมีโอกาสฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไป 6 - 18 เท่า

นพ.วรตม์ กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มศิลปินมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ เพราะคาแรกเตอร์ของตัวศิลปินเอง เช่น มีความสันโดดมากกว่าผู้อื่น มีอารมณ์ร่วม หรือเซนซิทีฟต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย บวกกับสภาพแวดล้อมเศรษฐานะต่าง ๆ นอกจากนี้ เรื่องการรักษาภาพพจน์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งด้วย เพราะศิลปินที่มีชื่อเสียงบางครั้งไม่สามารถแสดงออกหรือระบายปัญหาของตนให้ใครรับทราบได้ และเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต เพราะกลัวกระทบภาพลักษณ์ของศิลปิน ซึ่งคนทั่วไปจะต้องมองว่าศิลปินดาราจะต้องสมบูรณ์แบบ รวมไปถึงได้รับความคาดหวังสูงจากคนในสังคม ทำให้บางคนรับแรงกดดันไม่ไหว ส่วนใต่างประเทศจะพบว่าศิลปินที่ประสบความสำเร็จในระดับสูงมีเงินใช้มากมาย มักมีปัญหาเรื่องการใช้ยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายได้ในที่สุดเช่นกัน

ต้องทำความเข้าใจคนทั่วไปก่อนว่า การปรึกษาจิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องป่วย อาจเป็นการปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาชีวิต และศิลปินดาราก็เป็นเพียงคนธรรมดาที่สามารถรับความเครียดได้เหมือนกับคนปกติ แต่หากศิลปินดาราที่กังวลไม่กล้าปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เพราะกลัวคนนำไปขยายความ จริง ๆ แล้วก็มีสถานบริการเอกชนหลายแห่งที่ให้บริการทางด้านนี้ ก็สามารถนัดเวลานอกเวลาราชการ หรือในวันที่คนไม่เยอะได้ เพื่อคลายความกังวลใจ” นพ.วรตม์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ไม่อยากให้ทุกคนขุดคุ้ยสาเหตุของผู้พยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายไปแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เรากลับไปแก้ไขไม่ได้อีก รังแต่จะก่อให้เกิดความเสียใจแก่ผู้สูญเสียและครอบครัว อยากให้โฟกัสว่า ต่อจากนี้เป็นต้นไปเราจะป้องกันและช่วยตัวเราและคนรอบข้างได้อย่างไรให้ห่างจากความคิดฆ่าตัวตาย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น