xs
xsm
sm
md
lg

ออกข่าวคนฆ่าตัวตายเสี่ยงกระตุ้นคนอยากตายทำตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิตแนะใส่ใจ สัญญาณเตือนฆ่าตัวตาย ย้ำอย่ามองเรียกร้องความสนใจ แต่เป็นการขอความช่วยเหลือ ชี้ข่าวฆ่าตัวตายน้อยลง แต่เผยแพร่ซ้ำมากขึ้น เสี่ยงกระตุ้นคนอยากฆ่าตัวตายให้ทำตาม

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุการณ์การฆ่าตัวตายมักพบ ผู้ที่ทำร้ายตนเองหลายราย ก่อนตัดสินใจลงมือกระทำจะส่งสัญญาณเตือนบอกเหตุให้แก่ครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดอยู่เสมอ แต่ผู้ที่ได้รับสัญญาณเตือนนั้นมักไม่เข้าใจ หรือแปลความหมายไม่ถูกต้อง กลับมองว่าเป็นเรื่องปกติ เรียกร้องความสนใจ ทำให้ละเลย ไม่ใส่ใจ หรือ แม้จะสังเกตเห็น แต่ก็ไม่กล้าพอ และขาดความรู้ที่จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือ เหล่านี้จึงล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนที่นำมาสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สัญญาณที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจ ผู้ใกล้ชิดจึงต้องเปลี่ยนทัศนคติตัวเอง อย่ามองว่าการฆ่าตัวตายเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่มันคือการร้องขอความช่วยเหลืออีกครั้ง เป็นการบอกกล่าวแทนคำพูดเพื่อให้ช่วย เพราะเขาเหล่านั้นหาทางแก้ไขไม่ได้แล้ว ไม่พบเห็นประตูทางออกของปัญหา จึงเลือกวิธีนี้เพื่อยุติปัญหา ดังนั้น ทุกคนควรที่จะช่วยกันสังเกตว่าในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงดังกล่าว มีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าว ให้ปรับตัว ปรับใจ มองสัญญาณเตือนอย่างมีสติ และคิดตามถึงเหตุผลของประโยคและพฤติกรรมเหล่านั้น ว่า อะไร ทำให้เขาพูดอย่างนั้น เกิดอะไรขึ้น และ เบื้องต้น มีอะไรให้ช่วยเหลือหรือไม่ ต้องแสดงให้เขาได้รับรู้ว่า เราเข้าใจในทุกข์ที่เขามีอยู่ และพร้อมจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์การนำเสนอข่าวปัญหาการฆ่าตัวตายที่ผ่านมา จะพบว่า มีการนำเสนอจำนวนบุคคลที่ฆ่าตัวตายลดลง แต่มีการนำเสนอซ้ำผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะจิตใจเปราะบาง มีปัญหาอยู่แล้ว หรือ คิดฆ่าตัวตายอยู่แล้ว และกำลังหาวิธีอยู่ เกิดความคิดชั่ววูบ ตัดสินใจฆ่าตัวตายหนีปัญหาไปในที่สุด จึงต้องขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชนให้ช่วยระมัดระวังในการนำเสนอข่าวเช่นนี้ด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น