สพฉ. เผยส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ ช่วยผู้ป่วยรอดกว่า 97.9% พบภาคเหนือขอใช้บริการมากที่สุด ระบุแนวโน้มพัฒนาการดีขึ้นจากอดีตที่ใช้เวลาขนย้ายหลายชั่วโมง เหลือเพียงไม่กี่นาที แพทย์เวชศาสตร์การบินเชื่อไม่นานมาตรฐานทัดเทียมญี่ปุ่น
นพ.สาฬวุฒิ เหราบัตย์ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ. มีแผนพัฒนาระบบปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 12 เขตบริการ เพื่อแก้ปัญหาตามความเหมาะสม รวมทั้งมีการพัฒนาศูนย์ประสานการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ในอดีตการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศจะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน แต่จากการพัฒนาระบบทำให้ปัจจุบันสามารถลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินได้ภายในเวลาไม่กี่นาที และสถิติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานตั้งแต่ปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ 195 คน สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้รอดชีวิตได้ถึงร้อยละ 97.9 โดยพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมากที่สุดคือภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 53.85
นพ.สาฬวุฒิ กล่าวว่า การขอใช้ปฏิบัติการฉุกเฉินด้วยอากาศยาน จะต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่เกินขีดความสามารถของสถานพยาบาลต้นทาง หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และไม่สามารถรอการเคลื่อนย้ายด้วยยานพาหนะปกติ โดยขั้นตอนของการขอใช้นั้น จะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์อำนวยการในพื้นที่ หรือแพทย์ที่รักษาว่าจำเป็นต้องลำเลียงหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยานเพื่อประโยชน์ต่อการช่วยชีวิตหรือไม่ จากนั้นจะประสานงานกับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด (ศูนย์ 1669) เพื่อประเมินความเหมาะสม ให้คำแนะนำในการเตรียมผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนการลำเลียงทางอากาศ และขออนุมัติลำเลียงภายในเวลา 10 นาที ส่วนกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินนอกสถานพยาบาลจะประสานให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินภาคพื้นออกไปช่วยเหลือก่อน หากสามารถทำได้ โดยการช่วยเหลือดังกล่าวผู้ป่วยฉุกเฉินจะไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
พล.อ.ต.นิรันดร พิเดช ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ กล่าวว่า ระบบการปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศของไทยจะเป็นไปในลักษณะบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน และประยุกต์ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศกับบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม สถาบันเวชศาสตร์การบินถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยผลิตแพทย์และพยาบาล ให้มีความรู้ความชำนาญในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน โดยที่ผ่านมา มีการจัดอบรมร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติมาแล้ว 34 รุ่น หรือประมาณ 1,244 คน และในอนาคตมีการวางแผนพัฒนาเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย โดยได้ตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ และการตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อพัฒนาการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน
นพ.สุระ เจตน์วาที แพทย์เวชศาสตร์การบิน กล่าวว่า ปัจจุบันการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศของไทยพัฒนาไปมาก และน่าจะทัดเทียมกับประเทศญี่ปุ่นที่เป็นต้นแบบได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยปัจจุบันสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยหนักที่เกิดเหตุนอกโรงพยาบาลได้ สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤติระหว่างโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในระยะไกลได้อีกด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่