ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โรงพยาบาล ม.อ. ร่วม 4 เหล่าทัพ จัดซ้อมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วย และทดสอบความพร้อมของอาคารรัตนชีวรักษ์ ซึ่งเป็นศูนย์อุบัติเหตุแบบเบ็ดเสร็จในภาคใต้
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่อาคารรัตนชีวรักษ์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ร่วมกับตัวแทนจาก 4 เหล่าทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ จัดซ้อมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ประจำปี พ.ศ.2558 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการทดสอบความพร้อมของอาคารรัตนชีวรักษ์ ซึ่งเป็นศูนย์อุบัติเหตุแบบเบ็ดเสร็จในภาคใต้ และเพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงมณฑิรา ตันฑนุช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ระบบปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยานเป็นระบบส่งต่อที่สำคัญในการนำส่งผู้ป่วยจากพื้นที่เกิดเหตุไปยังโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที โดยเฉพาะผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุ และสาธารณภัยต่างๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการลำเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน ดังนั้น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิของภาคใต้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจดังกล่าว จึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และตำรวจ รวมทั้งศูนย์นเรนทรหาดใหญ่ ในการฝึกอบรม และให้ความรู้พร้อมกับซ้อมแผนเสมือนจริงในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศด้วยแฮลิคอปเตอร์จาก 4 เหล่าทัพ
โดยมีการจำลองสถานการณ์เหตุระเบิดในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว อีกจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งทางทีมแพทย์ และหน่วยกู้ชีพได้ช่วยกันเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บทางอากาศยานไปยังโรงพยาบาลเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งอยู่ใกล้เคียง โดยมีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ก่อนที่จะส่งต่อมายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อเข้ารับสู่กระบวนการรักษาจากแพทย์ และพยาบาลตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ ในทุกขั้นตอนของการจัดซ้อมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ได้มีเจ้าหน้าที่ และตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสังเกตการณ์ และมีการจับเวลาทุกจุด โดยมีการบันทึกเป็นสถิติ และประเมินเมื่อต้องเจอต่อสถานการณ์จริง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดตามหลักวิชาการ ทั้งต่อผู้ป่วย และผู้ปฏิบัติงาน