xs
xsm
sm
md
lg

Smart Monk ช่วยสุขภาพช่องปากสามเณรดีขึ้น ลดกินขนม-น้ำอัดลม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมอนามัยชูโครงการ “Smart onk” ร.ร.เชตวันฯ จ.แพร่ ช่วยสุขภาพช่องปากสามเณรดีขึ้น ลดการทานขนมกรุบกรอบ - น้ำอัดลมลง ย้ำต้องรณรงค์เพิ่มเพื่อกระตุ้นการปรับพฤติกรรม

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โครงการสามเณรน้อยเจ้าปัญญา พัฒนาสุขอนามัย (Smart Monk) ของโรงเรียนเชตวันวิทยา จ.แพร่ ได้จัดทำโครงการสามเณรน้อยเจ้าปัญญา พัฒนาสุขอนามัย (Smart Monk) เป็นหนึ่งในผลงานที่จะนำเสนอในการประชุมวิชาการ การพัฒนาสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารสู่โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 22 - 24 ก.ค. 2558 ซึ่งโครงการดังกล่าวช่วยให้สามเณรมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย สำหรับการดำเนินงานนั้น ประกอบด้วย 1. การดูแลร่างกาย เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัยให้สะอาดด้วยกิจกรรมตรวจเยี่ยมวัดและให้พี่ดูแลน้อง ให้ความรู้เรื่องการทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มและการครองผ้าที่ถูกต้อง 2. การรักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันให้ถูกวิธี โดยจัดกิจกรรมสุภาพบุรุษฟันดี ให้ความรู้เรื่องการแปรงฟันที่ถูกวิธี การประกวดมุมแปรงฟันทุกชั้นเรียน แปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวันจะมีสมุดตรวจเช็กความสะอาด

นพ.พรเทพ กล่าวว่า 3. กินอาหารสุกสะอาด ปราศจากสารอันตรายโดยจัดกิจกรรมขนมตัวร้ายกับคุณชายช่างเลือก ฝึกเลือกขนมตามโซนสี 4. รณรงค์ดื่มน้ำเปล่า จัดทำจุดดื่มเปล่าเพื่อให้สามเณรดื่มได้สะดวกและประชุมบุคลากรหาข้อตกลงร่วมกันในการแก้ปัญหาการจำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียน และ 5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพ ให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสมณเพศและทดสอบสมรรถนะร่างกาย ซึ่งพบว่า สามเณรให้ความสนใจและกระตือรือร้นที่จะดูแลสุขภาพตนเองผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก

“หลังดำเนินโครงการพบว่า สามเณรมีพฤติกรรมแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวัน ร้อยละ 16.22 แปรงฟันก่อนนอนทุกวัน ร้อยละ 33.38 และแปรงฟันสะอาด ร้อยละ 77.02 ส่วนการบริโภคขนมกรุบกรอบสามเณรทานลดลงจากร้อยละ 86.4 ปี 2556 เหลือร้อยละ 74.32 และลดการดื่มน้ำอัดลมลงจากร้อยละ 67.9 ในปี 2556 เหลือร้อยละ 29.73 รวมถึงมีการดูแลสุขภาพ เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยให้สะอาดและถูกสุขลักษณะอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ดื่มน้ำเปล่า การแปรงฟัน ต้องมีการกระตุ้นตลอดเวลาเพื่อให้นักเรียนเกิดความตื่นตัวและปฏิบัติกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ และกิจกรรมบางกิจกรรมสามเณรทำได้น้อยไม่หลากหลาย เช่น ออกกำลังกายและการเคลื่อนไหว อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยังมีสามเณรที่มีภาวะโภชนาการเกินอยู่มาก” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น