ประกันสังคมเตรียมเงิน 38.5 ล้านบาท ดูแลลูกจ้าง “ซัมซุงโคราช” หลังถูกเลิกจ้าง ตามสิทธิว่างงาน ขณะที่กระทรวงแรงงานเตรียมหาตำแหน่งงานรองรับ ระบุโคราชอุตสาหกรรมขยายตัวมีการจ้างงานเพียบ ห่วงอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ อยู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน เสี่ยงเลิกผลิตเลิกจ้างงาน
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน และโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีบริษัท ซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ นครราชสีมา จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตมอเตอร์ฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ ตั้งอยู่ภายในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี จ.นครราชสีมา มีลูกจ้าง 2,471 คน โดยประกาศปิดกิจการใน ธ.ค. 2558 และทยอยเลิกจ้างลูกจ้าง ว่า บริษัทได้มีการประชุมทำความเข้าใจลูกจ้างเกี่ยวกับการเลิกจ้าง พร้อมการจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2558 ได้ทยอยเลิกจ้างลูกจ้าง 1,365 คน และ ส.ค. นี้ จะเลิกจ้าง 800 คน และเลิกจ้างลูกจ้างที่เหลือทั้งหมดพร้อมปิดกิจการใน ธ.ค. 2558 โดยบริษัทฯได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินช่วยเหลือพิเศษตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทุกคน
นายอารักษ์ กล่าวว่า สำหรับกระทรวงแรงงานได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างให้มีงานทำ มีรายได้ให้เร็วที่สุด จัดตำแหน่งงานว่างรองรับกว่า 2,000 ตำแหน่ง สามารถใช้บริการได้ที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) และหากลูกจ้างคนใดประสงค์จะเปลี่ยนอาชีพ หรือประกอบอาชีพอิสระ ต้องการพัฒนาฝีมือหรือยกระดับทักษะฝีมือ สามารถแจ้งความประสงค์ใช้บริการได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 5 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ขณะที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมความพร้อมจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนฯ กรณีว่างงานประมาณ 38.5 ล้านบาท
“สำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมาได้รายงานข้อมูลว่า นครราชสีมายังเป็นจังหวัดที่มีนักลงทุนสนใจ และมีกิจการบางประเภทขยายการผลิต ในภาพรวมตั้งแต่ ม.ค.- พ.ค. 2558 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน รวม 42 โครงการ เงินลงทุน 5,400 ล้านบาท มีการจ้างงาน 3,016 คน มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการขยายอุตสาหกรรมการผลิตที่สามารถรองรับการจ้างงานเพิ่ม แต่จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเลิกจ้าง พบว่า กิจการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ อาจได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่ลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประเภท Hard disk drive (HDD) อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงขึ้น จึงทำให้ความต้องการของตลาดลดลง และมีผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงานในที่สุด” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
นายอารักษ์ กล่าวว่า แต่หากดูข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เรื่อง การขยายตัวด้านการจ้างงาน เดือน มิถุนายน 2558 ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการส่งออกของประเทศแล้ว พบว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 5.17 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 4.46 อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ขยายตัวร้อยละ 4.77 ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดน ทำให้มีผู้สนใจมาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้ทำให้ประเทศไทยยังมีความต้องการแรงงาน เพื่อรองรับปัจจัยเหล่านี้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่