xs
xsm
sm
md
lg

คาดไข้เลือดออกระบาดหนัก ก.ค.-ส.ค.เดือนละ 13,000 ราย สั่งทั่วประเทศรับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ.คาดไข้เลือดออกระบาดพุ่ง ก.ค.-ส.ค. เดือนละ 13,000 ราย กำชับ สสจ.รณรงค์ให้ประชาชนทำลายลูกน้ำยุงลาย รพ.เข้มงวดตรวจรักษาป้องกันการเสียชีวิต พร้อมเตือนคนอายุ 20-50 ปี เร่งฉีดวัคซีนคอตีบ หลังพบผู้ป่วยตาย 1 รายที่พังงา หวั่นแพร่ระบาดง่าย

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนโรคไข้เลือดออกมักแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากยุงลายมีจำนวนชุกชุมกว่า ทั้งนี้ ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) รอบ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 29 มิ.ย. 2558 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 24,742 ราย เสียชีวิต 17 ราย พบได้ทุกวัย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 10-24 ปี เกือบครึ่งเป็นนักเรียน โดยระยองเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คาดการณ์ว่าช่วง ก.ค.-ส.ค. จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดและสูงที่สุดในรอบปี เพิ่มจากเฉลี่ยประมาณ 4,000 รายต่อเดือน เป็นเดือนละ 10,000-13,000 ราย ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันทำลายลูกน้ำยุงลายสถานที่ต่างๆ ทุก 7 วัน เพื่อลดจำนวนยุงลายพาหะนำโรค และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวดการตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร.กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาจึงต้องรักษาตามอาการ คือ ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว และป้องกันอาการช็อก และแก้ปัญหาเลือดออกในอวัยวะต่างๆ อาการไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง หรือเจ็บที่ชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หากกินยาแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน ขอให้คิดถึงโรคนี้และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่มีไข้สูงทุกคน แนะนำให้กินพาราเซตามอล หรือกินยาตามที่แพทย์สั่ง ห้ามซื้อยาแอสไพริน หรือไอบรูโปรเฟนมากิน เพราะระคายเคืองกระเพาะอาหาร หากป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก อาจทำให้มีเลือดออกในอวัยวะภายในง่ายขึ้น มีอันตรายถึงชีวิตได้

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า นอกจากโรคไข้เลือดออกแล้ว คร.ยังทำการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ 13-19 ก.ค. เนื่องจากพบว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จ.พังงา มีผู้ป่วยสงสัยโรคคอตีบเสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กชายชาวพม่า อายุ 2 ปี มีประวัติการรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ 1 เข็มแรกคลอด จึงคาดว่าโรคคอตีบจะมีโอกาสแพร่ระบาดในไทยได้ โดยเฉพาะช่วง ก.ค.-ต.ค. เพราะจากการศึกษาล่าสุดพบว่าคนไทยอายุ 20-50 ปี มีภูมิคุ้มกันต่อพิษของเชื้อคอตีบในระดับที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ ประกอบกับการเคลื่อนย้ายถิ่นของแรงงานต่างชาติเข้าในไทย และมีรายงานการระบาดของโรคคอตีบในประเทศเพื่อนบ้านช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงต้องเฝ้าระวังโรคนี้ในผู้ใหญ่ จึงขอเชิญชวนผู้ที่อยู่ในกลุ่มอายุ 20-50 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ให้รับบริการในสถานพยาบาลของรัฐตามภูมิลำเนา

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น