รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผลิต “ชาตัวหอม” สูตรหญิงถวายตัว เผยทำจากดอกไม้ให้กลิ่นอ่อน ๆ เร่งส่งเสริมใช้ใน “คอร์สเจ้าสาว” จ่อผลิตส่งนอก ระบุยังไม่มีการวางขาย ชี้กลิ่นกระดังงาหอมเย้ายวน กระตุ้นอารมณ์สิเน่หา
วันนี้ (8 ก.ค.) ภญ.วัจนา ตั้งความเพียร หัวหน้างานการแพทย์แผนไทย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวในงานมหกรรมสุขภาพ “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 26 ก.ค. ว่า ขณะนี้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ทำชาสูตร “ชาตัวหอม” ขึ้น ซึ่งสูตรดังกล่าวได้มาจากองค์ความรู้ในการทำชาตัวหอมของต้นเครื่องสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ปรุงสูตรชาดอกไม้ให้หญิงสาวรับประทานก่อนเข้าถวายตัว ซึ่งสูตรที่ รพ. ใช้ คือ บัวบก ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ขลู่ ช่วยขับเหงื่อและลดกลิ่นตัว ซึ่งเหงื่อที่ออกมาจะมีกลิ่นหอมดอกไม้ไปด้วย โดยดอกไม้ที่ใช้ คือ ลีลาวดี กระดังงา และ จำปีจำปา ซึ่งจะอยู่ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ แต่หากงดรับประทานอาหารกลิ่นแรงๆ และรับประทานชาตัวหอมไปประมาณ 2 - 3 วัน ก็จะช่วยให้กลิ่นตัวหอมยาวนานขึ้น
“ขณะนี้ชาตัวหอมทำขึ้นเพื่อใช้แค่ในสปาของทาง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เท่านั้น ยังไม่มีการจำหน่ายในท้องตลาด แต่ รพ. กำลังส่งเสริมให้นำไปใช้ในคอร์สเจ้าสาว ที่นอกจากจะบำรุงผิวพรรณด้วยครีมแล้ว การดื่มชาดอกไม้ก็จะทำให้ตัวหอมอ่อน ๆ ตามภูมิปัญญาที่ใช้ประโยชน์จากดอกไม้ไทย ซึ่งไม่ได้หายาก อาทิ กระดังงา ให้กลิ่นหอมเย้ายวน กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ส่วน ลีลาวดี และจำปา จะมีความหอมช่วยผ่อนคลาย คลายเครียด วิตกกังวล และหลับสบาย ที่สำคัญ ชาตัวหอม ปลอดภัยสามารถดื่มได้ทุกคน ไม่เฉพาะเจ้าสาวเท่านั้น เพราะไม่มีน้ำตาล แม้แต่คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ชาตัวนี้ก็ไม่ได้มีผลทำให้อาการกำเริบแต่อย่างใด” ภญ.วัจนา กล่าว
ภญ.วัจนา กล่าวว่า ชาตัวหอมก็เหมือนกับคนที่กินเครื่องเทศมานาน เวลาเข้าใกล้ก็จะมีกลิ่นของเครื่องเทศออกมาตามร่างกาย แต่อันนี้จะเป็นกลิ่นอ่อน ๆ ของดอกไม้ ไม่ได้หอมฉุนเหมือนน้ำหอม ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการเปิดตัวชาตัวหอม แม้จะใช้ที่สปาของ รพ. มานาน เพิ่งจะเปิดตัวที่งานนี้เป็นที่แรกและกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งมีแนวโน้มในการผลิตส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ เพราะดอกไม้มีความเป็นสากล ซึ่งขณะนี้ที่ รพ. เองก็กำลังหาแหล่งดอกไม้ที่ปลอดภัยไม่มีสารพิษเพื่อผลิตชาตัวหอมเพิ่มขึ้น
ภญ.วัจนา กล่าวว่า สำหรับวิธีในการทำชาตัวหอมนั้น เคล็ดลับของคนโบราณ คือ นำดอกไม้กลิ่นหอมมาหั่นเป็นฝอยแล้วตากแดดอ่อน ๆ เพราะหากตากแดดแรงความร้อนจัดจะทำให้ความหอมระเหยออกไปจนหมด หรือ ใช้วิธีการอบที่อุณหภูมิไม่เกิน 45 องศาเซลเซียส ให้ไม่มีความชื้น จากนั้นให้เก็บรักษาเอาไว้ในภาชนะสุญญากาศ สามารถเก็บได้ทั้งปี ทั้งนี้ สามารถใช้ดอกไม้กลิ่นหอมได้ทุกชนิดตามที่แต่ละคนต้องการ แต่ต้องทดลองกลิ่นก่อน เพราะดอกไม้บางตัวก็กลบกลิ่นดอกไม้อีกตัว หรือเสริมกลิ่นกันแล้วทำให้ฉุนเกินไปหรือไม่ อย่างสูตรที่ รพ. ทำอยู่นี้ผ่านการทดลองจนได้สัดส่วนความหอมที่ลงตัวแล้วแล้ว แต่ยังต้องทดลองอีกหลาย ๆ กลิ่น เพื่อให้มีความหลากหลาย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่