หมอจุฬาฯหนุนตั้งแล็บเฉพาะตรวจเชื้อโรคอันตราย ติดห้องแยกโรคผู้ป่วย สะดวกในการตรวจเชื้อ ชี้ไม่ต้องหวั่นเรื่องงบประมาณ เหตุไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องขนาดใหญ่แบบแล็บทั่วไป
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายให้โรงพยาบาลต่างๆ จัดตั้งห้องปฏิบัติการ(แล็บ) DRA (Designated Receiving Area) ในการตรวจวิเคราะห์เชื้อและผลเลือดของผู้ป่วยในโรคติดเชื้ออันตราย เช่น อีโบลา เมอร์ส และโรคติดเชื้ออันตรายอื่นๆ ในอนาคต โดยแยกจากห้องแล็บปกติ ซึ่งห้องแล็บดีอาร์เอ จะมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกว่าห้องแล็บตรวจโรคทั่วไปในโรงพยาบาล ซึ่งห้องแล็บดีอาร์เอถือเป็นสิ่งที่ควรทำ โดยห้องดังกล่าวจะอยู่ติดกับห้องแยกโรคผู้ที่ป่วยที่เฝ้าระวังโรคเมอร์ส หรือโรคติดเชื้ออันตรายอื่นๆ มีหน้าที่เหมือนด่านหน้าในการรับสิ่งส่งตรวจคือ เสมหะ หรือเลือดจากผู้ป่วยรายดังกล่าว เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าป่วยด้วยเชื้ออะไร แต่หลายโรงพยาบาลมองว่าต้องใช้งบประมาณมากในการสร้างห้องดังกล่าว เพราะต้องใช้เครื่องมือแยกจากการตรวจทั่วไป แต่จริงๆ แล้วปัจจุบันมีเครื่องมือขนาดเล็กสำหรับการตรวจหาค่าเลือดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือใหญ่โต ซึ่งขณะนี้สถาบันบำราศนราดูรก็มีเครื่องมือดังกล่าวอยู่ ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการนำมาพัฒนาอยู่ในห้องดีอาร์เอ
พญ. จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ที่สถาบันฯ มีเครื่องมือสำหรับตรวจหาค่าเลือดทั่วไป ซึ่งจะแยกส่วนกับการตรวจหาเชื้อ ทำให้ไม่ปะปนกัน โดยเครื่องดังกล่าวมีราคา 4-5 แสนบาท โดยสามารถนำมาใช้ได้อย่างสะดวก ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องใช้ห้องดีอาร์เอขนาดใหญ่ เพียงแค่ห้องขนาดเล็กๆ ก็สามารถมีเครื่องมืออย่างพกพา โดยเครื่องนี้จะแยกออกจากการตรวจเชื้อไวรัส แต่จะตรวจเฉพาะค่าแล็บมาตรฐานทั่วไป โดยใช้เพียงแค่เลือดนำมาวัดค่าในเครื่อง จะทราบทั้งค่าน้ำตาลในตับ ไต ซึ่งสะดวกรวดเร็ว โดยปัจจุบันแล็บต่างๆ ที่จะมีการพัฒนาห้องดีอาร์เอก็สามารถใช้เครื่องลักษณะดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือขนาดใหญ่เหมือนแล็บประจำ เบื้องต้นใช้งบเพียง 2 ล้านบาท
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่