กรมควบคุมโรคเล็งขอ ครม. ให้เงินชดเชยคนถูกกักตัวเฝ้าระวัง “โรคเมอร์ส” วันละ 500 บาท เช่นเดียวกับเกาหลี เหตุขาดรายได้ เผยร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ตรวจถ้อยคำเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างประกาศลงราชกิจจาฯ ช่วยคุมโรคดีขึ้น โทษแรงขึ้น
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การกักตัวผู้สัมผัสโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส เป็นเวลา 14 วัน เพื่อสังเกตอาการนั้น เป็นไปตามแนวทางการควบคุมโรค เนื่องจากโรคเมอร์สประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยปลอดจากโรคเมอร์สแล้ว ผู้สัมผัสโรคที่ต้องติดตามอาการทั้งหมดพ้นจากการเฝ้าระวังแล้ว โดยขณะนี้กำลังขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เงินชดเชยคนไทยที่ถูกกักตัวเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ ซึ่งจะชี้แจงกับ ครม. ว่า เป็นลักษณะของค่าเสียเวลาประมาณวันละ 500 บาท เนื่องจากไม่มีรายได้ระหว่างถูกกักตัว เช่น กรณีแท็กซี่ที่ถูกกักตัวก็ไม่มีรายได้ เป็นต้น
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. ... ขณะนี้ได้มีการตรวจถ้อยคำในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว และได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากมีการประกาศใช้จะทำให้คำนิยามต่างๆ มีความชัดเจนและการปฏิบัติต่าง ๆ ก็จะรวดเร็วขึ้น โดยอธิบดี คร. จะมีอำนาจในการสั่งการ และมีคณะกรรมการวิชาการคอยให้คำแนะนำ นอกจากนี้ ยังจะมีคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดก็ต้องมีการจัดทำแผนขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการส่วนกลางคอยให้การดูแล ขณะเดียวกัน ช่องทางการเดินทางตามด่านชายแดนต่าง ๆ ก็จะมีคณะกรรมการคอยดูแลเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ ซึ่งต้องทำเพราะมีกฎหมายรองรับ นอกจากนี้ ยังจะมีทีมปฏิบัติการควบคุมโรคในระดับอำเภอคอยช่วยเหลืออีกด้วย ซึ่งตรงนี้จะทำให้การควบคุมป้องกันโรคดีขึ้น
“หาก พ.ร.บ. นี้ ออกมาทุกคนจะมีบทบาทหน้าที่ชัดเจน เช่น ช่องทางตามด่านชายแดนต่าง ๆ จะมีเจ้าของช่องทางเป็นผู้ดูแลและไม่สามารถปฏิเสธการดูแลได้ เพราะมีกฎหมายบังคับ แต่ขณะนี้หากไม่ทำก็ไม่มีบทลงโทษ นอกจากนี้ การลงโทษต่าง ๆ ก็จะรุนแรงขึ้นด้วย เช่น คนที่สัมผัสโรคหรือคนป่วยไม่ปฏิบัติตามในการควบคุมโรค โทษเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 10 เท่า จากเดิมปรับ 2,000 บาท ก็จะเพิ่มเป็น 20,000 บาท ส่วนโทษจำก็จะเพิ่มจาก 6 เดือนเป็น 1 ปี ทั้งนี้ หลังจากมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็จะมีเวลา 6 เดือนในการเตรียมการในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ และจะมีเงินชดเชยค่าของที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำลายให้กับเจ้าของอีกด้วย” นพ.โสภณ กล่าวและว่า พ.ร.บ. ตัวนี้ถือว่าจำเป็นเพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยควบคุมป้องกันโรคและจะเป็นการอิงในเรื่องกฎอนามัยระหว่างประเทศด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่