สพฐ. ยันเก็บค่าบำรุงการศึกษา ตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง หาก ครม. มีมติ หรือกฎหมายใดรองรับให้ยกเลิกเก็บเงินค่าบำรุง พร้อมปฏิบัติตาม
วันนี้ (30 มิ.ย.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีนายคมเทพ ประภายนต์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้มาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เงินค่าบำรุงการศึกษา เนื่องจากขัดต่อมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 และขัดต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นั้น ว่า ตนขอยืนยันว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมาย ซึ่งการเก็บค่าบำรุงการศึกษานั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางอนุมัติ ไม่เคยดำเนินการอะไรนอกเหนือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมา ยังไม่มีคำสั่งหรือมติอย่างเป็นทางการ ให้ สพฐ.ยกเลิกประกาศการเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา เพียงแต่ให้ไปพิจารณาหาแนวทาง ซึ่ง สพฐ. กำลังพิจารณาเรื่องการคิดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้กับนักเรียนใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมการจัดการศึกษาในทุกเรื่อง
“รัฐธรรมนูญกำหนดว่ารัฐต้องจัดการศึกษาให้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้คนรู้สึกว่าฟรีต้องฟรีหมด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงรัฐอุดหนุนในส่วนที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานซึ่งไม่สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มได้ เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ากิจกรรม ส่วนการเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา คือ ค่าใช้จ่ายพิเศษที่ส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาผู้เรียน อาทิ ห้องเรียนพิเศษ ค่าจ้างครูต่างประเทศ ค่าสาธารณูปโภค ห้องเรียนปรับอากาศ ซึ่ง สพฐ. ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนด อย่างสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังมีการแก้ไขให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย ตามความจำเป็นพื้นฐาน ส่วนที่เป็นการสอนเพิ่มเติมนอกเหนือหลักสูตรหรือหลักสูตรพิเศษคงต้องมีการระดมทรัพยากร หากให้ฟรีทุกรายการคงต้องดูงบประมาณของประเทศด้วยว่าเพียงพอหรือไม่ ในเรื่องนี้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติประการใดหรือมีกฎหมายรองรับให้ สพฐ. มีการเปลี่ยนแปลงประกาศการเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา สพฐ. พร้อมที่จะปฏิบัติตาม”นายกมล กล่าวทิ้งท้าย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่