xs
xsm
sm
md
lg

การประเมินความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Money Guru
โดยฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์การลงทุน

หลักการเบื้องต้นของการลงทุนที่มีความสำคัญและควรได้รับความใส่ใจเป็นอย่างมาก คือ “ลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้” เนื่องจากระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้จะเป็นตัวกำหนดแนวทางการลงทุนและหลักทรัพย์ในการลงทุนที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินไปด้วยความสบายใจตลอดเส้นทางของการลงทุน

ด้วยเหตุนี้แบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งแรกที่ผู้เริ่มการลงทุนจะต้องกรอกเพื่อวัดระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ โดยแบบฟอร์มดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มสำเร็จรูปที่บริษัทจัดการลงทุนออกแบบขึ้นเพื่อจำแนกลูกค้าออกเป็นกลุ่มๆ ตามคะแนนความเสี่ยงที่ได้ และข้อมูลที่ใช้ประเมินส่วนใหญ่ก็เป็นข้อมูลเชิงปริมาณเป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนแต่ละคนต่างมีพื้นฐานทางจิตวิทยา เงื่อนไขหรือข้อจำกัดทางการเงิน รวมถึงความรู้และความเข้าใจในการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงขอเสนอแนวทางการประเมินความเสี่ยงแบบง่ายๆ อีกแนวทางหนึ่ง เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนได้สำรวจความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนใดๆ

แนวทางง่ายๆ ในการสำรวจระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วยตนเอง ได้แก่

1. การสำรวจเชิงจิตวิทยา หรือการวัดความอดทนต่อความเสี่ยง กล่าวคือ เป็นการสำรวจว่าตนเองจะสามารถอดทนต่อการขาดทุนได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งมักจะถูกหล่อหลอมมาจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา และยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ โดยหลักในการสำรวจความอดทนต่อการขาดทุนคือ สมมติว่าถ้านักลงทุนขาดทุนเป็นเงินจำนวนหนึ่งแล้ว นักลงทุนยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่รู้สึกกระวนกระวาย แล้วลองเพิ่มจำนวนเงินที่คาดว่าจะขาดทุนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อเสียเงินก้อนนั้นไป ซึ่งจุดสุดท้ายที่นักลงทุนรู้สึกสบายใจที่จะขาดทุนก็คือระดับที่นักลงทุนยอมรับการขาดทุนได้นั่นเอง หากนักลงทุนตอบคำถามข้อนี้ได้จะสามารถเชื่อมโยงไปสู่การบริหารเงินลงทุน (Money Management) ในการลงทุนได้อีกด้วย

2. การสำรวจเงื่อนไขหรือข้อจำกัดทางการเงินต่างๆ เป็นการพิจารณาถึงฐานะทางการเงิน ภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน และแผนการใช้จ่ายเงินในอนาคต หากเกิดการขาดทุนจากเงินที่นำมาลงทุนจะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน หรือสร้างปัญหาต่อการดำเนินชีวิตมากน้อยขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น หากเงินที่นำมาลงทุนนั้นเป็นเงินก้อนที่เหลือจากภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ และผู้ลงทุนยังไม่มีแผนการใช้เงินในอนาคตอันใกล้ เงินลงทุนดังกล่าวก็จะสามารถนำไปจัดสรรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ แต่ในทางกลับกัน หากเงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินที่เก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเล่าเรียนของบุตรในปีหน้า เงินลงทุนก้อนดังกล่าวก็ไม่ควรที่จะนำมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นต้น

3. การสำรวจความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุน นักลงทุนจะต้องดูก่อนว่าตัวเองมีความรู้ในการลงทุนอะไรบ้าง แล้วดูว่าสิ่งที่ตัวเองอยากลงทุนนั้นอยู่ในขอบเขตความรู้ของตัวเองหรือไม่ ถ้ายังไม่อยู่ในขอบเขตความรู้ก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่จะลงทุน โดยไม่ควรลงทุนในสิ่งที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอันขาด เพราะความไม่รู้เป็นความเสี่ยงร้ายแรงที่อาจก่อให้เกิดผลขาดทุนจากการลงทุนได้

โดยสรุปแล้วการวัดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนทุกคนไม่ควรมองข้ามและควรที่จะทำการประเมินด้วยตนเองก่อนทำการลงทุนทุกครั้ง ทั้งนี้ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ควรจะเป็นระดับที่เหมาะสมทั้งต่อพื้นฐานทางจิตวิทยา และเงื่อนไขหรือข้อจำกัดทางการเงินของแต่ละบุคคล นอกเหนือจากนั้นแล้วการลงทุนในสิ่งที่มีความรู้ความเข้าใจก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยควบคุมความเสี่ยงของการลงทุนให้อยู่ในระดับที่ผู้ลงทุน “รับได้” อย่างแท้จริง

ความคิดเห็นและข้อความต่างๆ ในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น