xs
xsm
sm
md
lg

ประชาคมจวก “หมอชนบท” มั่วบอก สธ.แอ๊บ รพ.ขาดทุน จี้ตรวจสอบพื้นที่ก่อนจ้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล
ปลัด สธ. เผยยังไม่ทราบรายละเอียด หมอชนบทเปิดข้อมูลส่อทุจริต เรียกร้องสอบวินัย ด้านประชาคม สธ. จวกหมอชนบทให้ข้อมูลมั่ว ยัน รพ. ขาดทุนไม่ได้สร้างสถานการณ์ ตรวจสอบพื้นที่จริงได้ ย้ำชัด สธ. ไม่ได้จัดสรรเงิน แต่เป็น สปสช.

วันนี้ (30 มิ.ย.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเพียงสั้นๆ ถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบททำหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข และเตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาไม่ให้ นพ.ณรงค์ กลับมายัง สธ. หลังถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรับมนตรี เพราะมีข้อสงสัยอาจทุจริต โดยขอให้มีการตรวจ ว่า ตนยังไม่ได้อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ ขอเวลาพิจารณา

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย ในฐานะประธานประชาคมสาธารณสุข กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบทให้ข้อมูลผิด เพราะหากพูดถึงปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง สามารถตรวจสอบได้ในพื้นที่ว่ามีปัญหาขาดทุนมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่ลงไปในพื้นที่ จัดสรรโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ได้มาจาก สธ. จึงไม่เข้าใจที่ชมรมแพทย์ชนบทอ้างว่ามีการสร้างสถานการณ์ รพ.ขาดทุนคืออะไร ที่สำคัญเรื่องนี้ตรวจสอบได้ไม่ยาก ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ โดยตนในฐานะที่เป็นหนึ่งใน รพ.ที่ถูกพาดพิงยินดีให้ข้อมูล แต่ขอให้กรรมการเป็นกลางจริงๆ ทุกอย่างตรวจสอบได้

นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) กล่าวว่า ในฐานะที่ถูกพาดพิงว่ามีการเติมเงินให้ รพ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มมากขึ้น ยอมรับว่า เพิ่มขึ้นจริง แต่เป็นการเพิ่มในระดับจังหวัด เพื่อให้มีการปรับเกลี่ยในพื้นที่ลักษณะ รพ. ใหญ่ช่วย รพ. เล็ก เนื่องจาก รพ. ขนาดเล็กจะอยู่ไม่ได้ ถ้ารับแค่เงินจากสิทธิบัตรทองเท่านั้น ขณะที่ รพ. ใหญ่ ยังพอเอาตัวรอดได้ เพราะยังมีเงินมาจากสิทธิข้าราชการและประกันสังคม ดังนั้น สิ่งที่ชมรมแพทย์ชนบทกล่าวอ้าง อยากให้ไปดูข้อมูลข้อเท็จจริงให้มากกว่านี้ เพราะคนในพื้นที่เดือดร้อนจริงๆ

นพ.สุขสันติ พักธรรมนัก ผอ.รพ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า รพ. ในสังกัด สธ. มีปัญหาขาดสภาพคล่องมาก จึงไม่เข้าใจว่าการออกมาพูดลักษณะนี้เพื่อประโยชน์อะไร ที่แน่ๆ คือ จ.สิงห์บุรี มี รพท. 2 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) อีก 4 แห่ง ทั้งจังหวัดต้องใช้งบจากสิทธิบัตรทอง 350 ล้านบาท ขณะที่ประชากรมีประมาณ 180,000 คน ซึ่งเป็นพื้นที่ประชากรเบาบาง ปัญหาคือ เงินส่วนนี้ต้องหักเงินเดือนให้ข้าราชการทางการแพทย์อีก 352 ล้านบาท เห็นชัดว่าขาดทุนตั้งแต่เริ่ม ที่ผ่านมา ก็จะใช้เงินของสิทธิข้าราชการและประกันสังคมให้สามารถอยู่ได้ โดยส่วนกลางจะปรับเกลี่ยเงินช่วยเหลือประมาณ 148 ล้านบาทต่อปี แต่ปี 2558 ปรับเกลี่ยมาช่วยเพียง 75 ล้านบาท นี่คือ วิกฤตที่อยากให้ผู้มีอำนาจรับทราบ และช่วยหาทางแก้ไข ซึ่งหากจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ก็อยากให้เลือกกรรมการที่เป็นกลางจะได้เปิดรับข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น