บ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ร่วมป่าชุมชนบ้านลานคา สร้างฝายชะลอน้ำ รักษาความชุ่มชื้น ความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่า แก้ภัยแล้งหลังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระเทพรัตนฯ
นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้งจากปริมาณฝนที่ตกน้อยลง จ.ราชบุรี เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยผืนป่าแห้งแล้ง สัตว์ป่าเริ่มขาดแคลนแหล่งน้ำและอาหารจนต้องรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่การเกษตรของชุมชนทำให้พืชผลเสียหาย บริษัทฯ และป่าชุมชนบ้านลานคา จ.ราชบุรี จึงมีแนวคิดร่วมกันที่จะจัดสร้างฝายเพื่อชะลอน้ำฝนจากธรรมชาติให้คงอยู่ในพื้นที่ป่า เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและแหล่งน้ำภายในผืนป่าให้อยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ ‘15 ฝาย 15 ปี ราชบุรีโฮลดิ้ง’ ที่ร่วมกันดำเนินการระหว่างบริษัทฯ และชุมชน
นางบุญทิวา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 20 มิ.ย. 2558 สร้างฝายทั้งหมด 15 ฝาย ตามแนวร่องน้ำของป่าชุมชน เป็นระยะทาง 200 เมตร ประกอบด้วย ฝายแบบประยุกต์ จำนวน 11 ฝาย ก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์เพื่อความคงทนถาวร ฝายคอกหมู หรือ ฝายไม้ไผ่ จำนวน 2 ฝาย ใช้ไม้ไผ่ตีเป็นคอกและใช้ดิน หรือ หินใส่กระสอบวางไว้ตรงกลางคอก และ ฝายหิน จำนวน 2 ฝาย เป็นการใช้หินและไม้ก่อสร้างเหมาะกับพื้นที่ที่มีก้อนหินจำนวนมาก ทั้ง 15 ฝายที่สร้างขึ้นจะช่วยกักเก็บน้ำฝนไว้ในพื้นป่าไว้ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระบบนิเวศของป่าคงความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพได้ ที่สามารถผลิตอาหารและน้ำหล่อเลี้ยงของคนในชุมชน รวมทั้งสัตว์ป่า และเป็นแหล่งฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพของโลกไว้ได้ด้วย
“เชื่อว่า ฝายทั้ง 15 แห่งจะช่วยกักเก็บน้ำรักษาความชุ่มชื้นให้ผืนป่ารับมือกับปัญหาภัยแล้งในปีนี้ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับปีนี้เป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีเมตตากรุณาต่อประชาชนคนไทยนานัปการ บริษัทฯและชุมชนจึงได้ร่วมกันน้อมเกล้าถวายโครงการ ‘15 ฝาย 15 ปี ราชบุรีโฮลดิ้ง’เป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” นางบุญทิวา กล่าว
นายแดง มาลา ประธานป่าชุมชนบ้านลานคา กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านลานคาเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าในการดำรงชีพเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว โดยเฉพาะการนำไม้ไผ่ที่มีจำนวนมากในป่าชุมชนมาจักสานทำวัสดุเครื่องใช้ภายในบ้านและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มรายได้ของชุมชน ซึ่ง “ที่กกไข่จากไม้ไผ่” เป็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักของที่นี่ ชุมชนบ้านลานคาได้ช่วยกันรักษา ดูแล และฟื้นฟูป่ากันอย่างเข้มแข็งจนทำให้ป่ายังคงอยู่เป็นสมบัติของชุมชนและชาติมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น ชุมชนจึงมีความเห็นร่วมกันว่า ฝายชะลอน้ำน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันระบบนิเวศของป่าไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง กอปรกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้สนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนของบ้านลานคามาตั้งแต่แรกและมีนโยบายส่งเสริมป่าชุมชนมาโดยตลอด จึงได้ตกลงใจร่วมกันทำโครงการ 15 ฝาย 15 ปี ราชบุรีโฮลดิ้ง ขึ้นมา ซึ่งบริษัทฯ ก็ได้ช่วยสนับสนุนแรงของพนักงานเข้ามาช่วยทำฝายกับชุมชนด้วยนอกเหนือจากการสนับสนุนด้านอื่นๆ
อนึ่ง ป่าชุมชนบ้านลานคา ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายลุ่มน้ำภาชี และ ป่าพุยางพุสามซ้อน ในตำบลยางหัก อำเภอปากช่อง จังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ป่ารวม 2,877 ไร่ สภาพป่าชุมชนเป็นภูเขาสูง มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ และพื้นที่ติดกับที่ทำกินของชุมชน ชุมชนร่วมกันปกป้อง ดูแล และอนุรักษ์พื้นที่ป่าแห่งนี้ไว้เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าเป็นอาหาร สมุนไพรในการรักษาโรค และน้ำสำหรับทำการเกษตร อุปโภค และ บริโภคของชุมชน ป่าแห่งนี้เป็นหนึ่งใน 27 ป่าชุมชนที่บริษัทฯ ได้สนับสนุนส่งเสริมให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชนกับกรมป่าไม้เมื่อปี 2555 ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมความแข้มเข็งป่าชุมชนจังหวัดราชบุรี” และยังเป็นป่าชุมชนชนะเลิศระดับจังหวัด จากกิจกรรมการประกวดป่าชุมชนตัวอย่าง ในโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2556 อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 60 ป่าชุมชนที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการ 60 ป่าชุมชนอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ อีกด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่