xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง รพ.เข้มแยกผู้ต้องสงสัย “เมอร์ส” สำรองหน้ากากอนามัย N95 ช่วยดักจับไวรัส 99.9%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. ประชุมความพร้อมส่วนจังหวัด เข้มซักประวัติการเดินทางมาจากประเทศระบาด มีอาการไข้ให้ส่งเข้าห้องแยกโรค ตรวจวิเคราะห์เชื้อ สั่งห้องแล็บศูนย์วิทย์ทำงาน 24 ชั่วโมง ช่วยได้ผลตรวจเชื้อไว เผยห้องแยกโรคยังไม่พร้อมอีก 8 แห่ง สั่งใช้เงินบำรุงพัฒนาด่วน พร้อมให้สำรองหน้ากากอนามัย N95 ชี้ช่วยป้องกันไวรัส 99.9%

วันนี้ (18 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือและเฝ้าะรัวงป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือ โรคเมอร์ส ว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่ว่า รพ.รัฐ รพ.เอกชน หรือโรงพยาบาลสังกัดใดก็ตาม ขอให้ซักประวัติคนไข้ว่ามีประวัติการเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มี 7 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน กาตาร์ อิหร่าน จีน และ เกาหลีใต้ นอกจากนี้ สธ. ยังได้ปรับปรุงรายละเอียดคู่มือวิธีการปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับโรคเมอร์ส โดยให้ติดไว้ที่บริเวณประตูเข้าออก รพ. และแผนกต่างๆ ซึ่งจะให้ผู้ตรวจราชการ สธ. ทุกแห่งสุ่มโทรศัพท์สอบถามกับเวรแพทย์ฉุกเฉิน ว่า มีความรู้ความเข้าใจหรือไม่ เพื่อให้แพทย์มีความรู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแพทย์รุ่นใหม่จะได้อ่านอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ใช่แค่อ่านจากในไลน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ยังสั่งให้ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การตรวจวิเคราะห์ได้เร็วขึ้น และให้ รพ.สร้างวัฒนธรรมในการป้องกันตนเอง ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ หากป่วย มีไข้ ไอ ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน

“ไทยมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคเมอร์ส เพราะเป็นประเทศเปิด ยังไม่มีการจำกัดการเดินทาง ที่น่าห่วงคือกลุ่มที่เดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีการเดินทางมายังประเทศไทยมากกว่าเกาหลีถึง 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ได้ขอให้ด่านเข้าออกประเทศทั้ง 67 ด่านเฝ้าระวังเข้ม เนื่องจากไม่ได้มีแค่ชาวต่างชาติที่เข้าประเทศผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีชาวต่างชาติที่มาจากประเทศที่มีการระบาดข้ามพรมแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวและว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ จะต้องตะครุบตัวผู้ที่ติดเชื้อรายแรกให้ได้ และเจ้าหน้าที่ต้องไม่ติดเชื้อ จึงจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ สำหรับคนที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดภายใน 14 วันแล้วมีอาการไข้ ขอให้รีบพบแพทย์ โดยสามารถ โทร.แจ้ง 1669 ให้รถฉุกเฉินมารับตัวได้ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับบุคลอื่น ซึ่งหากมีประวัติการเดินทางและอาการป่วยไข้เข้าเกณฑ์ก็จะแยกตัวดูแลรักษาในห้องแยกโรคความดันเป็นลบทันที

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ความพร้อมของห้องแยกโรคความดันลบ ทั่วประเทศมีความพร้อมแล้ว ยกเว้นบางจังหวัดที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง คือ แพร่ ลำพูน เพชรบูรณ์ พิจิตร นครพนม ชัยภูมิ อำนาจเจริญ และสตูล เนื่องจากบางแห่งเป็นจังหวัดเล็ก ไม่มีเงินในการพัฒนา ก็ขอให้ใช้เงินบำรุงในการพัฒนาห้องแยกโรคความดันลบ หรือให้โรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ให้ความช่วยเหลือไปก่อน แล้ว สธ. จะดำเนินการเคลียร์ค่าใช้จ่ายภายหลัง ซึ่งการพัฒนาห้องแยกโรคฯจะใช้งบประมาณราว 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีห้องแยกโรคความดันลบ ก็สามารถใช้ห้องธรรมดามาใช้แยกผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ ขอให้ทุก รพ. สำรองหน้ากากอนามัย N95 จำนวน 1,500 ชิ้นต่อเดือน ซึ่งหน้ากากอนามัยดังกล่าวสามารถป้องกันไวรัสได้ 99.9% โดยหน้ากากดังกล่าวจะมีกระดาษที่กรองจับไวรัสได้ทุกชนิด รวมถึงโคโรนาไวรัส เช่นเดียวกับห้องแยกโรคความดันลบที่จะกระดาษในการกรองเชื้อไวรัส

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยต้องสงสัยที่ จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 3 ราย ชัดเจนแล้วว่าเป็นไข้เลือดออก แต่ในส่วนของที่กังวลและมีการแชร์ข้อมูลถึงผู้เดินทางมาจากประเทศแถบตะวันออกกลางนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเชื้อทางห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่ามีโอกาสในการติดเชื้อดังกล่าวอยู่แล้ว เนื่องจากมีการเดินทางไปกลับทั้งเกาหลีใต้ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ไม่แปลกที่ไทยมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ไม่อยากให้ตื่นตระหนก เพราะไทยมีระบบเฝ้าระวัง และหากพบเร็วก็สามารถกักไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ที่สำคัญขณะนี้ สธ. ได้ประกาศให้โรคเมอร์ส เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ซึ่งจะทำให้มีอำนาจติดตามผู้สงสัยป่วยได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า จากการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย จะทำให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจตามกฎหมายสามารถสั่งควบคุมผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยได้ หากพบว่าบุคคลคนนั้นไม่ให้ความร่วมมือจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนกรณีลูกเรือหรือกัปตันบนเครื่องบินไม่ปฏิบัติตามในแง่การควบคุมโรค ก็สามารถเข้าจับกุมได้เช่นกัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น