เลขาธิการ กกอ. ยันไม่ทบทวนเลื่อนเปิด - ปิดเทอม ตามอาเซียน ชี้ข้อดีเด็กเรียนจนจบ ม.6 ครบตามหลักสูตร ลดปัญหาการจราจร ย้ำเป็นโอกาสที่ดีในช่วง 3 - 4 เดือนนี้ มหา’ลัยรัฐ - เอกชน ได้ใช้เวลาเตรียมความพร้อมให้แก่เด็ก
วันนี้ (15 มิ.ย.) รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้มีการทบทวนการเปิด - ปิดภาคเรียน ตามกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะสภาพอากาศร้อนไม่เหมาะกับบรรยากาศการเรียนการสอนนั้น ว่า คงไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวมาทบทวน ซึ่งการเลื่อนเปิด - ปิดภาคเรียน นั้นช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เรียนครบตามหลักสูตรและอยู่ในชั้นเรียนจนจบภาคการศึกษา เนื่องจากยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดเปิดรับนักศึกษาก่อน เด็กก็จะอยู่เรียนจนจบ ไม่มีปัญหาเด็กหนีออกมาเรียนกวดวิชา เพื่อสอบในระบบรับตรง ครูก็จะได้สอนเด็กอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ยังช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ด้วย เพราะหากมหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียนตรงกับการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่างๆ การจราจรก็จะเป็นอัมพาต อีกทั้งเด็กก็ยังได้ปิดภาคเรียนในช่วงฤดูฝนด้วย ทำให้ไม่เกิดปัญหาในการเดินทาง
“ที่มองว่าเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีอากาศร้อน ไม่เหมาะกับการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นนั้น ส่วนตัวผมมองว่าสภาพอากาศเมืองไทยเวลานี้ร้อนทุกเดือน ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นกับสภาพอากาศร้อนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเตรียมจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย เพราะเด็กจะมีเวลาว่างก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ประมาณ 3 - 4 เดือน โดยทุกมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน ต้องใช้เวลานี้ในการพัฒนาเด็กก่อนเป็นนิสิต นักศึกษา ชั้นปีที่ 1 ทั้งในเรื่องทักษะภาษา ความรับผิดชอบ และการปรับตัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาโดยตรง” รศ.ดร.พินิติ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่