โรค “เมอร์ส - โควี” แพร่ระบาดมาแถบเอเชียมากขึ้น พบป่วยในจีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทยเสี่ยงติดเชื้อแพร่ระบาด สธ. สั่งสกัดเข้ม คัดกรองผู้ป่วยที่มาจากแถบตะวันออกกลาง - ประเทศที่ระบาด ประสานสถานทูตซาอุฯ งดออกวีซ่าผู้ไม่มีหนังสือรับรองวัคซีนจาก สธ. ไปทำพิธีฮัจญ์ อุมเราะห์
วันนี้ (4 มิ.ย.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด ว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส - โควี ในประเทศเกาหลีใต้มีแล้ว 25 ราย แต่ยังไม่มีมาตรการจำกัดการเดินทาง อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด จึงขอให้ทุก รพ. จัดระบบฟาสต์แทรกตรวจคัดกรองผู้ป่วยใน รพ. ที่มีอาการปอดบวมรุนแรง ป่วยเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศแถบตะวันออกกลาง หรือมีการระบาด ตรวจสอบความพร้อมใช้งานของห้องแยกโรคความดันเป็นลบใน รพ. และสร้างเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วย ติดป้ายประกาศในแผนกผู้ป่วยนอกให้เพื่อเตือนให้ผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคแล้วมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ำมูกไหลให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ประสานและซักซ้อมการทำงานของทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว และขอให้ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ส่วนการเฝ้าระวังและคัดกรองผู้เดินทางขอให้ สสจ. ที่มีด่านเข้าออกระหว่างประเทศแจ้งเตือนผู้ที่มีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจและมีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อส่งตัวไปตรวจหาโรคอย่างละเอียดที่ รพ. ซึ่งขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ภายใน 5 - 8 ชั่วโมง ดังนั้น เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้ หรือหากมีผู้ป่วยเข้ามาก็จะสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของโรคได้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานผู้ป่วยเมอร์ส - โควี ตั้งแต่ปี 2555 - ปัจจุบัน มีประมาณ 1,100 คน เสียชีวิต 400 คน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 30 - 40 ล่าสุด ปี 2558 พบผู้ติดเชื้อใน 10 ประเทศ ขณะนี้มีแนวโน้มการระบาดของโรคมายังประเทศแถบเอเชียมากขึ้น โดยพบที่ประเทศเกาหลีใต้ จีน เกาะฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย ยังไม่พบผู้ป่วยในไทย แต่ถือว่ามีความเสี่ยงที่โรคจะเข้ามาในประเทศเช่นเดียวกัน เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีทั้งผู้ที่เดินทางมาจาการประเทศตะวันออกกลางโดยตรง และประชาชนของประเทศอื่นๆ ซึ่งมาตรการที่สนามบินยังคงมีการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาอยู่แล้ว จึงสามารถใช้ร่วมกันได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การตรวจคัดกรองและป้องกันการระบาดในรพ.ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีที่สุด
“องค์การอนามัยโลกยังไม่มีคำแนะนำจำกัดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด แต่มีคำแนะนำสำหรับผู้จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ อุมเราะห์ ซึ่งไทยมีมาตรการดูแลก่อนไปต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไข้กาฬหลังแอ่นก่อนเดินทาง 2 สัปดาห์ ส่วนหลังกลับก็มีการติดตามต่อเนื่อง ล่าสุดได้ประสานไปยังสำนักจุฬาราชมนตรี และบริษัททัวร์เพื่อขอรายชื่อ และข้อมูลของผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะห์เร็วๆ นี้แล้ว นอกจากนี้ ประสานไปยังสถานทูตซาอุดีอาระเบียไม่ให้ออกวีซ่าให้กับผู้ที่ไม่มีใบรับรองการฉีดวัคซีนจากกระทรวง” นพ.โอภาส กล่าวและว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปเที่ยวประเทศเกาหลีขอให้หลีกเลี่ยงการไปยังเมืองแดจอน อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วย ส่วนที่ไปยังตะวันออกกลางนั้นห้ามไปที่ฟาร์มเลี้ยงอูฐ ห้ามดื่มน้ำนมอูฐดิบ และขอให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่