xs
xsm
sm
md
lg

เลือกแม่นม ตรวจ “เอชไอวี-ตับอักเสบ” ก่อน ระวังเด็กแพ้อาหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หมอเด็กชี้ให้ทารกดูดนมแม่คนอื่นทำได้ แต่ต้องปลอดภัยจริงๆ ระบุเลือกเฟ้น “แม่นม” ต้องตรวจเชื้อเอชไอวี - ตับอักเสบบี ก่อน หากติดเชื้อหรือเป็นพาหะสามารถส่งเชื้อผ่านน้ำนมไปถึงเด็กได้ ย้ำหากเด็กแพ้สารอาหาร แม่นมต้องคุมอาหารการกินด้วย

จากกรณีสังคมออนไลน์ชื่นชมพยาบาลให้ทารกดูดนมตัวเองแทนแม่ของเด็กที่ยังไม่สามารถให้นมบุตรเองได้ เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Yong Poovorawan” ว่า การให้ทารกดูดนมแม่คนอื่น ถือเป็นอันตราย เพราะในทางการแพทย์เด็กทารกอาจเสี่ยงได้รับเชื้อโรคจากนมแม่ของคนอื่น

วันนี้ (4 มิ.ย.) ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ สาขาโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เด็กทารกที่ไม่สามารถดูดนมแม่ตัวเองได้มีหลายสาเหตุ เช่น ความเจ็บป่วยของแม่หรือลูก แรงดูดนมของลูกไม่เพียงพอ หรือแม่ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือตับอักเสบ เป็นต้น เด็กทารกจึงจำเป็นต้องได้รับนมจากแหล่งอื่นแทน โดยทั่วไปมักจะให้ผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกแทน แต่คนเชื่อว่านมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก บางส่วนจึงมีการให้ผู้หญิงคลอดบุตรรายอื่นมาให้นมแทน ซึ่งส่วนตัวมองว่าการไปอาศัยนมแม่คนอื่นบางครั้งอาจไม่สามารถป้อนให้เด็กได้ตลอดเวลา ที่สำคัญ การจะเลือกผู้มาให้นมทารกแทนแม่นั้น หรือที่สมัยก่อนเรียกว่าแม่นมก็มีความสำคัญมาก เพราะจะต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปลอดภัยสำหรับทารกจริงๆ

ศ.นพ.พิภพ กล่าวว่า หากจะให้ผู้อื่นมาเป็นแม่นมแก่เด็กทารก หญิงคนดังกล่าวควรต้องมีการตรวจสุขภาพเพื่อยืนยันว่า ให้นมแล้วเด็กจะปลอดภัย ที่สำคัญคือ ต้องมีการตรวจ 2 โรค คือ การติดเชื้อเอชไอวี แต่การตรวจยังมีปัญหา คือ ในระยะฟักตัว 6 เดือน อาจจะยังตรวจไม่พบ และไวรัสตับอักเสบบี เพราะหากเป็นพาหะก็สามารถทำให้ทารกได้รับเชื้อผ่านทางน้ำนมได้ นอกจากนี้ ที่ต้องใส่ใจอย่างมากอีกเรื่องคือ การแพ้ของเด็กทารก เช่น แพ้โปรตีนนมวัว เป็นต้น หากเด็กมีอาการแพ้สารอาหารต่างๆ ผู้ที่จะมาเป็นแม่นมแทนนั้นก็จะต้องมีการควบคุมอาหาร ไม่รับประทานอาหารในสิ่งที่ทารกแพ้ เพราะสารอาหารดังกล่าวเด็กจะได้รับผ่านน้ำนม ทำให้เกิดอาการแพ้ในเด็กและเป็นอันตรายต่อตัวเด็กทารกเองได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น