อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ถือเป็นอำเภอนำร่องและอำเภอต้นแบบในการดำเนินงานทีมหมอครอบครัว นโยบายที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกตัวว่าจะมาปฏิรูประบบสุขภาพของไทยให้เข้าสู่ยุคใหม่ โดยเป็นการดึงเอางานประจำของทีมสาธารณสุขในพื้นที่ ขึ้นมาทำเป็นแนวทางให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ทีมหมอครอบครัวของ อ.กระทุ่มแบน กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่นโยบายนี้เริ่มต้นได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น นางคมขำ เยี่ยมประวัติ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ในฐานะรองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ รพ.กระทุ่มแบน จ.สมุนทรสาคร มีคำตอบ!!
“ในเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานทีมหมอครอบครัวของแต่ละพื้นที่ ก็พบว่าพื้นที่ต่างๆ ให้การชื่นชมการทำงานของอำเภอกระทุ่มแบนมาก ก็ยังแปลกใจอยู่เหมือนกัน แต่อาจเป็นเพราะว่าอำเภอกระทุ่มแบนมีต้นทุนที่ดีในการดำเนินการ นั่นคือมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชน ท้องถิ่นมานานนับ 10 ปี ตั้งแต่เมื่อปี 2547 ทำให้มีความเข้มแข็ง และเป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินการหลายเรื่อง เช่น จัดระบบสุขภาพอำเภอ หรือเมื่อครั้งมีการตั้งกองทุนสุขภาพตำบลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เราก็เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะพื้นที่เรามีความพร้อม มีความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรสาธารณสุข และชุมชนท้องถิ่น” นางคมขำ กล่าว
สิ่งสำคัญอีกประการที่ส่งผลให้การทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรสาธารณสุข และชุมชนมีความเข้มแข็ง นางคมขำ แนะนำว่า การทำงานต้องทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นพื้นฐาน และจะต้องทำงานอย่างมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางท้องถิ่น และชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ คือจะต้องทำงานบูรณราการร่วมกัน และให้ใจกันและกัน จึงจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมาได้ ไม่ใช่พอมีงานก็เรียกใช้ แต่ไม่เคยให้ความช่วยเหลืออะไรตอบแทนกัน เรียกว่าต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งจากการที่เราทำเช่นนี้มาเป็นเวลา 10 ปี ทำให้เมื่อมีนโยบายหมอครอบครัวลงมาในพื้นที่ การทำงานจึงไม่ใช่เรื่องยาก และสามารถต่อกันติดได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว
ทั้งนี้ การดำเนินงานทีมหมอครอบครัวของพื้นที่กระทุ่มแบนนั้น นางคมขำ เปิดขั้นตอนอย่างหมดเปลือกว่า ลำดับแรกจะต้องชี้แจงให้ทุกคน ทั้งบุคลากรสาธารณสุขเอง และผู้นำชุมชนท้องถิ่นเข้าใจก่อนว่า ทีมหมอครอบครัวคืออะไร ก็มีการทำเอกสารอธิบายแจกง่ายๆ ซึ่งทีมหมอครอบครัวไม่ได้จำกัดอยู่แค่บุคลากรสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพประชาชน แต่ยังรวมไปถึงชุมชน ท้องถิ่น อาสาสมัครต่างๆ ในการเข้าไปช่วยส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ทีม คือ 1. ทีมอำเภอ ประกอบด้วย สาหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด และนักโภชนาการ ให้คำปรึกษาแก่ทีมตำบลและทีมชุมชน โดยทีมอำเภอมีทั้งหมด 6 ทีม 2. ทีมตำบลเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตรงนี้มีทั้งหมด 15 ทีม ซึ่งจะแบ่งหมู่บ้านในการดูแล และ 3. ทีมชุมชน ประกอบด้วย ผู้นำ ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และจิตอาสา มีทั้งหมด 99 ทีม
“เป้าหมายหลักในการดูแลก็เน้นตามที่ สธ.มีนโยบายลงมาคือ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยระยะท้าย โดยในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบน พบว่า มีผู้สูงอายุทั้งหมด 16,666 คน สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 15,423 คน ต้องรับการช่วยเหลือบางครั้ง 1,041 คน และต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด 199 คน ส่วนผู้พิการมีทั้งหมด 1,694 คน สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 1,133 คน มีผู้ดูแลบางครั้ง 376 คน และต้องมีผู้ดูแล 185 คน ส่วนผู้ป่วยติดเตียงมี 275 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยโรคทั่วไป 256 คน และผู้ป่วยระยะท้าย 18 คน”
นางคมขำ บอกว่า หลังมีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องดูแลเป็นอย่างไร ทางอำเภอก็ทำให้ชัดเจนด้วยการออกคำสั่งอำเภอกระทุ่มแบน โดยการกำหนดแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนเลยว่า ทีมไหนใครดูแลพื้นทีไหน ดูแลครอบครัวไหนอย่างชัดเจน มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อโดยตรง มีการไปตรวจเยี่ยมบ้านประจำ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบส่งต่อของผู้ป่วยที่ดูแลโดยทีมหมอครอบครัวให้ได้รับการบริการที่ไวขึ้นด้วย ซึ่งหากกลุ่มเป้าหมายที่ทีมหมอครอบครัวดูแลเกิดเจ็บป่วยจำเป็นต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ทีมหมอครอบครัวก็จะมีใบส่งตัวไปยัง รพ.กระทุ่มแบน ซึ่งแผนกเวชระเบียนของโรงพยาบาลจะมีประวัติการตรวจรักษา การตรวจเยี่ยมของผู้ป่วยเก็บไว้ ทำให้แพทย์ใน รพ.กระทุ่มแบนมีข้อมูลที่ช่วยในการตรวจรักษาได้มาก และจะมีบัตร “กรีนการ์ด” ที่มีโลโก้ทีมหมอครอบครัว แนบไปกับใบประวัติและใบส่งตัวของผู้ป่วยด้วย ก็จะมีการให้คิวได้รับการตรวจรักษาที่รวดเร็วขึ้น
“แม้การดำเนินการอาจจะดูเป็นการลัดคิวผู้ป่วยทั่วไปที่มารอรับการตรวจรักษา แต่การดำเนินการเรามีการชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชนว่ามีการดำเนินการเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การให้คิวด่วนเช่นนี้ก็จะพิจารณาจากความฉุกเฉินของคนไข้ด้วย หากมาด้วยอาการฉุกเฉินวิกฤตแน่นอนว่ารอไม่ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการให้คิวก่อน ซึ่งทีมหมอครอบครัวจะมีการโทรศัพท์มาประสานโรงพยาบาลล่วงหน้า แต่หากมาด้วยอาการที่ไม่รุนแรงมาก ก็อาจจะให้แทรกแบบเนียนประมาณคิวที่ 2 - 3 เป็นต้น คือ ไม่ต้องไปอยู่ในคิวลำดับสุดท้าย แต่กรณีการส่งตัวมาโรงพยาบาลเกิดขึ้นไม่บ่อย เฉลี่ยเพียงวันละ 1 รายเท่านั้น จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด”
นางคมขำ บอกอีกว่า สำหรับการดูแลประชาชนในกลุ่มอื่น ถือเป็นงานประจำที่ รพ.สต. แต่ละแห่งดำเนินการอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะไม่ได้รับการดูแล เช่น การตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ในกลุ่มวัยทำงาน อาทิ เบาหวาน ความดัน มะเร็งปากมดลูก การลงไปดูพัฒนาการเด็กในพื้นที่ โภชนาการต่างๆ การดูแลสตรีมีครรภ์ให้ได้รับการฝากครรภ์โดยเร็ว เพียงแต่นโยบายหมอครอบครัวทำให้การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงมีความชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่