xs
xsm
sm
md
lg

กินผักดอง-สมุนไพร 4 ชนิด ช่วยขับโลหะหนักในร่างกาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. จัดระบบดูแลสุขภาพคนรอบเหมืองทองคำ 3 จังหวัด ตั้งคลินิกอาชีวอนามัย ตรวจรักษา ติดตาม และป้องกันโรคจากพิษโลหะหนัก ส่งทีมหมอครอบครัวเยี่ยมบ้าน แนะออกกำลังกาย กินอาหารผักดอง พ่วงสมุนไพร 4 ชนิด ช่วยขับ “แมงกานีส - สารหนู” ออกจากร่างกาย

วันนี้ (27 พ.ค.) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสุขภาพประชาชนที่ได้รับโลหะหนักจากการประกอบกิจการเหมืองทองคำ พื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ว่า ผลการตรวจสุขภาพประชาชนครั้งล่าสุด วันที่ 1 - 12 มี.ค. 2558 พบค่าโลหะหนักเกินมาตรฐานแต่ยังไม่ป่วยรวม 306 คน โดยพบแมงกานีสในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐาน 269 คน และพบสารหนูในปัสสาวะจำนวน 37 คน ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า น้ำอุปโภคบริโภคมีความสัมพันธ์กับแมงกานีสในเลือด และฝุ่นละอองจากกองหินใหม่ที่เขาลูกใหม่ในเหมืองทองคำ มีความสัมพันธ์กับอาการผื่นคัน ทั้งนี้ สธ. ได้ตั้งคณะกรรมการระดับพื้นที่ 2 ชุด คือ คณะกรรมการด้านการดูแลรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองทองคำ และคณะกรรมการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมภัยและผลกระทบ ซึ่งล่าสุด มีมติให้ดำเนินการแก้ไขอย่างมีส่วนร่วมทั้งภาคประชาชน รัฐ และผู้ประกอบการเหมืองแร่ เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย

นอกจากนี้ ได้ให้ทั้ง 3 จังหวัด ตั้งคลินิกอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาโรคจากการประกอบอาชีพและสารเคมีเป็นการเฉพาะในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และ รพ.สต. และส่งทีมหมอครอบครัวเยี่ยมบ้านผู้ที่ตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกายเกินมาตรฐาน ส่วนมาตรการเฝ้าระวัง จะมีการศึกษาผลกระทบสุขภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ตรวจคุณภาพแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ในรูปของคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย คือ ภาคประชาชน ภาครัฐ และผู้ประกอบการ” รมช.สธ. กล่าวและว่า ขณะนี้ได้อบรม อสม. ทั้ง 3 จังหวัด เป็น อสม. เชี่ยวชาญด้านสารพิษเคมี จำนวน 400 คน เพื่อช่วยระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และจัดระบบการเฝ้าระวังการปนเปื้อนโลหะหนักในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ในรัศมี 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร เฝ้าระวังการปนเปื้อนในพืชอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในพื้นที่และใช้เป็นค่าพื้นฐานในเชิงมาตรฐานทางวิชาการ ผลการตรวจคุณภาพน้ำประปา บ่อน้ำตื้น น้ำบาดาล น้ำดื่มบรรจุเสร็จ น้ำฝน 105 แห่ง เมื่อเดือนมีนาคม 2558 พบตกมาตรฐาน 62 แห่ง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แมงกานีสและสารหนูที่พบในร่างกายเกินค่ามาตรฐาน คณะกรรมการด้านการดูแลรักษาฯ มีความเห็นว่า หากไม่ได้รับเพิ่ม โลหะหนักเหล่านี้จะถูกขับออกจากร่างกายด้วยกลไกการกำจัดของเสีย ดังนั้น ในการลดความเสี่ยงผลกระทบระยะยาว สธ. ได้เน้นให้ประชาชนปฏิบัติ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การออกกำลังกายเพื่อให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ตามปกติ 2. กินอาหารให้เป็นยาโดยให้รับประทานอาหารจำพวกผักดอง เช่น ผักเสี้ยน ผักกาดเขียว เป็นต้น เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งจุลินทรีย์ในผักดองจะมีคุณสมบัติช่วยกำจัดโลหะหนักที่กล่าวมาออกจากร่างกายได้ และกินสมุนไพร 4 ชนิด ที่มีสรรพคุณช่วยขับโลหะหนักออกจากร่างกายได้เช่นกัน ได้แก่ 1. กระเทียมอัดเม็ด หรือ แคปซูล กินวันละ 1,200 มิลลิกรัม หรือกินกระเทียมสดวันละ 7 - 8 กลีบ 2. ผักชี บดแห้งกินวันละ 400 มิลลิกรัม หรือกินสดวันละ 4 กรัม หรือประมาณ 1 ต้น 3. ดื่มน้ำใบย่านางคั้นทุกวัน และ 4. กินมะขามป้อมสดวันละ 4 - 7 ผล ซึ่งพืชเหล่านี้หาได้ตามพื้นบ้าน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น