ฉะเชิงเทรา - อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุปลูกป่าไม้ด้วยวิธีใหม่ตามโครงการ “สร้างป่า สร้างรายได้” เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน พลิกพื้นที่บุกรุกจากราษฎรที่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว จนเป็นพื้นที่โล่งเตียนในบางฤดูกาล ให้กลับมาเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นสีเขียว สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และชาวบ้านที่ช่วยกันดูแล เผยหากทำสำเร็จอาจผลักดันให้เกิดโครงการป่าเศรษฐกิจชุมชนทั่วประเทศ
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงรายละเอียดโครงการ “สร้างป่า สร้างรายได้” ที่ทางกรมป่าไม้กำลังดำเนินการในแปลงสาธิตปลูกป่าด้วยวิธีใหม่ ที่บ้านท่ามะนาว ม.23 ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า โครงการนี้เป็นไปตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะใช้พื้นที่ป่าเสื่อมสภาพไปแล้วมาฟื้นฟูด้วยวิธีการปลูกที่แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ฟื้นฟูให้ธรรมชาติกลับคืนมา และการปลูกป่าเศรษฐกิจ
โดยการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูธรรมชาตินั้น จะใช้วิธีการปลูกที่ไม่ต้องปลูก ด้วยการกันเขตพื้นที่ที่มีการถูกบุกรุกไปแล้วไม่ให้ถูกรบกวนอีก ผืนป่าก็จะฟื้นกลับคืนมาเองโดยที่ไม่ต้องปลูกตามธรรมชาติ แต่วิธีนี้อาจจะต้องใช้กำลังคนมาก เพราะพื้นกว้าง และอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ก็สามารถทำจนได้ผลมาแล้วในแถบทางภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนวิธีที่ 2 คือ การปลูกที่แบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ การปลูกป่าเชิงระบบนิเวศ หรือการปลูกป่าแบบมิยาวากิ ซึ่งเป็นการนำต้นไม้หลายชนิด หลายชั้นเรือนยอด หลากหลายสายพันธุ์มาปลูกรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ขนาดความถี่ 3-4 ต้นต่อตารางเมตร หรือประมาณ 5-7 พันต้นต่อไร่ ซึ่งแตกต่างจากในอดีต ที่กรมป่าไม้จะปลูกพันธุ์ไม้เชิงเดี่ยวเป็นผืนใหญ่หลายร้อยไร่พร้อมกันไป ในอัตราการปลูกที่ห่างกันถึง 2 คูณ 4 เมตรต่อต้น หรือในอัตราเพียง 200 ต้นต่อไร่
ซึ่งจะเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพันธุ์ไม้หนาแน่นแบบผสมผสานกันในหลายชั้นเรือนยอด เพื่อช่วยในการส่งเสริมความชุ่มชื้นของดิน สร้างความหลากหลาย ส่งเสริมให้ต้นไม้โตเร็ว และสามารถรักษาความชุ่มชื้นได้ รวมถึงยังทำให้ต้นไม้เลียนแบบสภาพธรรมชาติด้วย
ส่วนวิธีต่อมา เดิมชาวบ้านที่เคยบุกรุกเข้าไปทำกินในพื้นที่ป่า และได้มีการปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง การยึดทวงคืนกลับมานั้นอาจทำได้ยาก และอาจไม่สามารถนำกลับคืนมาได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะเปลี่ยนเป็นการทำงานร่วมกันกับภาคประชาชน โดยการนำเอาโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริมาใช้
ซึ่งโครงการนี้เป็นความพยายามที่จะปลูกพืชที่เป็นไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นไม้ป่าผสมแซมกันกับไม้ผล และสมุนไพร ที่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ด้วย เช่น การปลูกไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้มะขามป้อม ตะคร้อ ตลอดจนไม้ผลชนิดอื่นๆ แทรกเข้าไปในพื้นที่ที่มีการทำเกษตรเชิงเดี่ยวจนกลายเป็นพื้นที่โล่งเตียนในบางฤดูกาล เพื่อที่จะแบ่งสัดส่วนของพื้นที่โล่งให้มีพื้นที่ป่ากลับคืนมาบ้าง
ซึ่งคาดว่าจะได้ผืนป่ากลับฟื้นขึ้นมาอย่างน้อย 30-40 เปอร์เซ็นต์ของที่โล่ง โดยโครงการนี้ได้มีการเริ่มทำไปแล้วใน 5 จังหวัด คือ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เลย และในวันสัปดาห์ปลูกต้นไม้แห่งชาติที่ จ.ฉะเชิงเทรา คาดว่าป่าของไทยที่เดิมมีเหลืออยู่แค่เพียง 32 เปอร์เซ็นต์ จะได้รับการฟื้นฟูกลับคืนมาได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% ต่อไป
ซึ่งการปลูกป่าแบบสร้างป่าสร้างรายได้นี้ ก็จะใช้ความร่วมมือกันจากชุมชนที่อยู่ข้างเคียงผืนป่าให้เข้ามาช่วยเป็นผู้ดูแล ซึ่งชาวบ้านก็จะได้รับประโยชน์จากผืนป่าที่ได้เข้ามาช่วยกันมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา และอาจผลักดันให้เกิดโครงการป่าเศรษฐกิจชุมชนขยายออกไปทั่วประเทศต่อไป