xs
xsm
sm
md
lg

จัดระบบแยกผู้ป่วยแก้ รพ.เอกชนเรียกเก็บเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย
สธ. สั่งทุก รพ. พัฒนาห้องฉุกเฉิน รองรับเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ จัดแพทย์ประจำดูแล  24 ชั่วโมง จัดระบบคัดแยกผู้ป่วย ระบุเจ็บป่วยฉุกเฉินพบมากใน กทม. รพ.สังกัด กทม. กองทัพ ร.ร.แพทย์เร่งสร้างตึก เพิ่มเตียงรองรับ แต่พบปัญหายังไร้พยาบาล ด้านเครือข่ายผู้เสียหายระบุรอได้ แต่รับไม่ได้แก้ราคาเอกชนแพงแบบเกาไม่ถูกที่คัน

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รมว.สาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง พัฒนาคุณภาพห้องฉุกเฉิน เพื่อรองรับโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ให้ดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤตฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต ความพิการให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ให้เพิ่มความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบขณะนี้คือ จำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินมีจำนวนมาก ทั้งผู้ป่วยหนักในภาวะวิกฤตและผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วไป ทำให้คิวรักษานาน ผู้ป่วย และญาติเกิดความไม่พึงพอใจ การพัฒนาจึงจะเน้นเรื่องการให้บริการ ณ จุดเกิดเหตุผ่านสานด่วน 1669 ซึ่งบริการฉุกเฉินฟรี 24  ชั่วโมง และจัดระบบคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินให้ชัดเจน

“ทั้งนี้ ให้มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือแพทย์ที่สนใจด้านฉุกเฉินเป็นผู้บริหารศูนย์สั่งการ 1669 รวมทั้งจัดบริการนอกเวลาตามความเหมาะสมให้เพียงพอ เพื่อให้ห้องฉุกเฉินให้บริการเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินจริงๆ สำหรับโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ให้จัดระบบให้มีแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาเป็นแพทย์ที่ปรึกษากรณีจำเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อร่วมประเมินผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว  รวมทั้งจัดระบบทางด่วนสำหรับผู้ป่วยโรคเร่งด่วนที่ต้องรักษาอย่างรวดเร็ว อาทิ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบ ติดเชื้อในกระแสเลือด หญิงมีครรภ์ ทารกแรกเกิด และผู้ป่วยที่มีบาดเจ็บอันตรายที่เส้นเลือด ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พิจารณาเปิดบริการนอกเวลาตามความจำเป็น โดยให้คำนึงถึงภาระงานและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ ให้สำนักบริหารการสาธารณสุขติดตามผลคืบหน้าทุก 2 เดือน เพื่อปรับปรุงพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาเตียง รพ.ตามสิทธิเต็ม จนไม่พร้อมรับส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.เอกชน หลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง ที่จริงแล้วเจ็บป่วยฉุกเฉินมักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. มากที่สุด ซึ่งพื้นที่นี้ส่วนใหญ่แล้วเป็น รพ. ในสังกัด กทม. สังกัดกองทัพ และโรงเรียนแพทย์ ซึ่งขณะนี้พบว่ามีความพยายามในการขยายบริการ มีการสร้างตึก และเพิ่มเตียงผู้ป่วย แต่ยังขาดแคลนพยาบาลมาก เพราะสมองไหลไปอยู่ภาคเอกชน จากค่าตอบแทนและความก้าวหน้าวิชาชีพ เพราะไม่ให้มีการบรรจุเป็นข้าราชการถือเป็นวิกฤตประเทศที่ต้องแก้ไข  ส่วน รพ.สังกัด สธ. ส่วนใหญ่เป็น รพ.เฉพาะทาง เช่น รพ.เด็ก ราชวิถี รพ.ทรวงอก รพ.สงฆ์ รพ.ประสาท ซึ่งได้มีมาตรการในการสำรองเตียงเอาไว้แล้ว โดยมีศูนย์สำรองเตียง รพ.ราชวิถี ดูแล แต่หากการสำรองเตียงไม่สำเร็จก็ต้องยอมให้รักษาตัวต่อที่ รพ.เอกชน โดยหน่วยงานเจ้าของผู้ป่วย เช่น กรมบัญชีกลาง ประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ต้องดูแลให้เข้ารักษาที่ รพ.ตามสิทธิให้เร็วที่สุด ส่วนกรณีต่างจังหวัด จังหวัดใหญ่ๆ ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมี รพ.ชุมชน รอบนอกที่ช่วยกระจายผู้ป่วยออกไปได้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องการส่งต่อนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าวันนี้คนไข้ล้นมาก

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า มาตรการแก้ปัญหากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ภายใน 72 ชั่วโมง ห้ามเรียกเก็บเงินคนไข้ และพัฒนาระบบส่งต่อให้ รพ. ตามสิทธิมีเตียงรองรับนั้น เรื่องนี้พวกเรารับได้และรอการดำเนินการได้ แต่ที่รับไม่ได้คือเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาค่ารักษา รพ.เอกชนแพง ไม่ว่าเรื่องค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจรักษา เรื่องนี้ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างรู้ปัญหา แต่เดาว่าการลูบหน้าปะจมูกทำให้มีปัญหาสะสมมาจนถึงทุกวันนี้  แม้ขณะนี้ทุกหน่วยงานจะแสดงออกถึงความกระตือรือร้น แต่ประชาชนยังมองว่าเป็นเพราะคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และก็ยังเห็นว่าแก้ไขปัญหาแบบเกาไม่ถูกที่คัน นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหายังให้คณะทำงานที่มีกรรมการแพทยสภา ออกหน้าเป็นโฆษกแก้ตัวแทน รพ.เอกชน เป็นรายวันแบบนี้ประชาชนรับได้ยาก

“วันนี้สิ่งที่ ปชช. อยากเห็น คือ การให้ทุกหน่วยงานที่เคยเกี่ยวข้อง ถอยห่างปัญหาคนละก้าว แล้วตั้งคนกลางจริงๆ ที่มีความรู้ความสามารถไม่มีส่วนได้เสีย เข้าไปแก้ไขปัญหา จึงจะเป็นที่ยอมรับได้จากทุกฝ่าย และการใช้มาตรา 44 ยุบบอร์ดแพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน ที่แม้จะมีคนดีอยู่บ้าง แต่ไม่มีบทบาทเท่ากลุ่มอำนาจเดิม ปลดแล้วให้คนกลางจริงๆ ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับ รพ.เอกชนเข้าไปทำหน้าที่  จึงจะแก้ไขปัญหาได้” นางปรียนันท์ กล่าว

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า การควบคุมราคาใน รพ.เอกชน เป็นเรื่องที่ดีที่ควรทำ ซึ่งค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน ที่แพงนั้น ไม่ใช่แค่ค่ายา แต่ยังมีค่าอื่นๆ โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภคต่างๆ แต่สิ่งที่อยากฝากคณะทำงานแก้ปัญหา รพ.เอกชน แพง ที่มี นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กรรมการแพทยสภาเป็นประธาน ซึ่งจะประชุมในวันที่ 25 พ.ค. นี้ อยากให้ปฏิรูปอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นเหตุที่ทำให้ยาแพง คือ เรื่องโครงสร้างราคายาของบริษัทยาเอกชน ที่ รพ.เอกชน อาจอ้างว่าแพงมาตั้งแต่ทาง ทั้งที่หากพิจารณาดีๆ จะพบว่า อาจมีต้นทุนไม่มากด้วยซ้ำ ซึ่งโครงสร้างราคายาถูกบรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ที่ สธ. เคยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่กลับถูกตีกลับและมีข่าวว่าต้องการให้ตัดออก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวของพวกบริษัทยาทั้งสิ้น  ส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ต้องเข้มแข็งในการให้สิทธิบัตรพวกยาใหม่ๆ เนื่องจากบางตัวก็ไม่ได้เข้าเกณฑ์การผลิตยาใหม่ แต่มาขอขึ้นทะเบียน ส่งผลให้ยาแพงมหาศาล เดือดร้อนผู้ป่วย อย่างกรณี ยาโซฟอสบูเวียร์  (Sofosbuvir) รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี มีราคาแพงมหาศาล เม็ดละ 3 หมื่นบาท จากต้นทุนไม่น่าเกิน 100 บาทด้วยซ้ำ ซึ่งพบว่าหากรักษาจนครบ 3 เดือนจะต้องจ่ายเงินประมาณ 2.5 ล้านบาท  ซึ่งยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพช่วยชีวิตคนได้ ประเด็นคือ แบบนี้ใครจะออกมาควบคุม เรื่องนี้ต้องร่วมกันทุกฝ่าย ต้องแก้ปัญหาทั้งต้นเหตุ และปลายเหตุ ต้องทำทั้งหมด

 
 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น