ปัตตานี - ชมรมพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยื่นหนังสือต่อ กสม.ขอความเป็นธรรมเรื่องค่าตอบแทน และลดความเหลื่อมล้ำในวิชาชีพ
วันนี้ (8 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรม ซีเอส.ปัตตานี นางวิภา คณะไชย ผู้แทนชมรมพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาชิกชมรมฯ จำนวน 15 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้แก่พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน
นางวิภา คณะไชย กล่าวว่า จากนโยบายด้านการสาธารณสุขของรัฐที่มุ่งเน้นการปรับปรุงระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี โดยยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น ทำให้มีการขยายบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมากขึ้น มีภาระงานล้นมือ ทั้งเชิงรุกเชิงรับ
ทั้งงานด้านการรักษาพยาบาล งานวิชาการ และต้องปฏิบัติงานทั้งใน และนอกสถานที่บริการ ในชุมชนที่ห่างไกล และทุรกันดาร แต่กระทรวงสาธารณสุข มีคำสั่งให้ลดค่าตอบแทนของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลงจากเดิม คือ จากเดิมที่เคยได้รับเป็นแบบเหมาจ่าย 3,000 บาท/เดือน เหลือเพียง 1,200 บาท/เดือน สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงาน 1-3 ปี และ 1,800 บาท/เดือน สำหรับผู้ที่ปฏิบัติงาน 4 ปีขึ้นไป จึงเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งดังกล่าว
นอกจากนี้ พยาบาลวิชาชีพที่บรรจุใหม่ไม่สามารถเลือกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนได้ทุกคนบางคนถูกส่งไปอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำให้มีรายได้จากการทำงานที่แตกต่างกันมากต่อผู้ที่บรรจุในโรงพยาบาลชุมชน การย้ายลำบากไม่มีความก้าวหน้า โดยปัจจุบัน พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีจำนวน 35 คน เจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฯ มาเป็นเวลานาน ทำงานได้ดี ไม่มีข้อบกพร่อง แต่เป็นได้แค่รักษาการ ไม่มีความก้าวหน้า แม้นบางคนทำงานนานมา 10 ปีก็ตาม หรือทำงานจนเงินเดือนเต็มขั้นสูงสุดเป็นแค่พยาบาลวิชาชีพชำนาญการเท่านั้น จากความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ บวกกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยทำให้พวกเขาขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน
ดังนั้น ชมรมพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสมาชิก 857 คน เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด 4 ข้อ คือ 1.ขอให้พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เท่ากับค่าตอบแทนของพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชน
2.พิจารณาออกคำสั่งการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณอย่างเดียวไม่เอาเงินจากงบบำรุงของโรงพยาบาล เนื่องจากมีความล่าช้าไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด ทำให้ได้รับความเดือดร้อน 3.ขอให้พิจารณากำหนดตำแหน่งชำนาญการพิเศษให้แก่พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นเวลานาน มีคุณสมบัติเหมาะสมได้ 4.ขอให้พิจารณาให้พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ สามารถดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนสายงานเป็นนักวิชาการสาธารณสุขเหมือนปัจจุบัน
นางวิภา คณะไชย กล่าวอีกว่า ทางชมรมพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางส่วนได้เดินทางไปส่วนกลางด้วยเพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีสาธารณสุข ปลัดกระทรวงฯ สภาการพยาบาล และ สปสช.ด้วย
ด้าน ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ได้รับคำร้องแล้ว และคงจะต้องไปศึกษาในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร เช่น เรื่องค่าตอบแทนที่ลดลง ต้องตรวจสอบถึงเหตุผลที่ไปลดลง ค่าตอบแทน สิทธิที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่าง รพ.ชุมชน กับ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล หลังจากนั้นก็จะได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนต่อไป