xs
xsm
sm
md
lg

หญิงท้องเสี่ยง “กรดไหลย้อน” เหตุมดลูกดันกระเพาะ หูรูดหลอดอาหารแย่ “อ้วน-ใส่ชุดรัด-กินดึก” เสี่ยงด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์ชี้หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงโรคกรดไหลย้อนง่าย เหตุหูรูดหลอดอาหารทำงานน้อยลง มดลูกดันกระเพาะอาหาร ทำน้ำย่อยทะลักหลอดอาหารง่าย ส่วนคนทั่วไปพบ 15% ของการปวดท้องตอนบนมักป่วยโรคนี้ เหตุกินอาหารสร้างกรด สวมเสื้อผ้ารัดแน่น กินอาหารดึกแล้วนอน เผยยาลดกรดเอาอยู่ หากกินยาแล้วยังทรมาน อาเจียนเป็นเลือด กินข้าวไม่ได้ ให้รีบพบแพทย์ ทิ้งไว้นานเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร พ่วงลงกล่องเสียง

วันนี้ (21 พ.ค.) ที่ รพ.กรุงเทพ   นพ.บุญชัย โควาดิสัยบูรณะ แพทย์ประจำศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวในงานเสวนา “อยู่อย่างไร ห่างไกลกรดไหลย้อน” ว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในประเทศไทยพบว่าผู้ที่มีอาการปวดท้องตอนบน (Dyspepsia) ประมาณร้อยละ 15 จะเป็นกรดไหลย้อน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โรคนี้ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ส่วนน้อยบางรายมีโอกาสพัฒนากลายเป็นมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งในลำคอ เพราะมีอาการอักเสบเรื้อรังอยู่เสมอ ทั้งนี้ โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุจากหลายปัจจัย คือ ความผิดปกติของหูรูดหลอดอาหาร การบีบตัวของหลอดอาหารผิดปกติ และภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวมากส่งผลให้แรงดันในช่องท้องสูง นอกจากนี้ ยังเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ด้วย เช่น การใส่เสื้อผ้ารัดแน่น สูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลม ดื่มสุรา ทานของทอด ของมัน อาหารเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด และการทานอาหารจนดึกดื่นแล้วล้มตัวลงนอนทันที ทำให้เกิดการไหลกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาที่หลอดอาหาร ส่วนใหญ่อาจไม่พบอาการจากกรดไหลย้อน แต่บางรายจะเกิดอาการแสบร้อนในทรวงอก เรอเปรี้ยว ขย้อนอาหาร และจุกแน่นถึงคอ อาจเกิดอาการเสียงแหบ ไอเรื้อรัง ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ลิ้นเป็นฝ้า มีกลิ่นปาก หลอดลมอักเสบ หอบหืด หรือปอดอักเสบ นอกจากนี้ ภาวะกรดไหลย้อนสามารถทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ถ้าเป็นนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น หลอดอาหารตีบ เลือดออกจากการอักเสบหรือแผลในหลอดอาหาร และมีความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุหลอดอาหารและเป็นมะเร็งหลอดอาหาร

นพ.บุญชัย กล่าวว่า หากมีอาการดังกล่าวเมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายต่างๆ ถ้ามีอาการแสบร้อนปวดท้อง เรอเปรี้ยธรรมดา แพทย์ก็รักษาด้วยการให้ยาลดกรด และแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อน ซึ่งผู้ป่วยสามารถซื้อยาลดกรดมารับประทานเองได้ ส่วนใหญ่ 90% รักษาแล้วได้ผลดี แต่หากรับประทานยาลดกรดแล้วอาการไม่ดีขึ้น ยังคงปวดแสบและทรมานจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ กินอาหารแล้วติดในลำคอ ไม่ลงไปในกระเพาะอาหาร กินแล้วเหมือนถูกมีดปาดคอ หรือกินแล้วอาเจียน หรืออาเจียนแล้วมีเลือดปน กินอาหารไม่ค่อยได้ น้ำหนักลดถือเป็นสัญญาณอันตรายต้องรีบมาพบแพทย์ ก็จะทำการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องเข้าไปดูในหลอดอาหารว่ามีแผลหรือไม่ รุนแรงในระดับใด โดยจะฉีดยาชาที่คอและให้ยานอนหลับและสอดกล้องเข้าไปดู เพื่อประเมินว่าควรรักษาด้วยวิธีใด เช่น หากเกิดจากหูรูดกระเพาะอาหารก็อาจทำการผ่าตัด เป็นต้น ทั้งนี้ หากไม่พบว่ามีแผลอะไรในหลอดอาหาร แต่คนไข้ยังมีอาการปวดแสบตลอดเวลาก็จะตรวจด้วยวิธีการติดแคปซูลอิเล็กทรอนิกส์ในหลอดอาหาร ซึ่งจะวัดความดป็นกรดด่างในหลอดอาหารจากภาวะกรดไหลย้อน แล้วส่งสัญญาณมายังเครื่องรับสัญญาณ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นจะวิเคราะห์ผลเพื่อทำการรักษาต่อไป  ส่วนแคปซูลดังกล่าวจะหลุดออกไปเองในเวลา 7 วันและถูกขับออกจากร่างกายผ่านการขับถ่ายทั่วไป

พญ.จิราวดี จัตุทะศรี แพทย์ประจำศูนย์หูคอจมูกกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า โรคกรดไหลย้อนพบว่าบางคนกรดไหลย้อนขึ้นมาถึงระดับคอ ซึ่งอาจเกิดโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียง ทำให้อาการรุนแรงกว่า เพราะเยื่อบุกล่องเสียงทนกรดได้น้อยกว่าหลอดอาหาร อาการของโรคกรดไหลย้อนลงกล่องเสียงมักไม่ชัดเจน แต่ที่พบบ่อย ได้แก่ เสียงแหบ มีของเหลวรสเปรี้ยวจากกรดหรือขมจากน้ำดีไหลลงคอ บางครั้งเหมือนมีเสมหะในคอตลอดเวลา ไอกระแอม รู้สึกอยากขากเสมหะบ่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เสมหะ แต่เป็นอาการบวมของกล่องเสียง นอกจากนี้ ยังพบอาการฟันสึก เสียวฟัน ฟันผุ มีกลิ่นปาก กลืนอาหาร น้ำ หรือเม็ดยาลำบากกว่าปกติ ไอมาก ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะไอหลังอาหาร หรือไอเวลาเอนลงนอน จุกในลำคอ รู้สึกคล้ายกับมีก้อนในลำคอ แสบร้อนยอดอก เจ็บหน้าอก เรอเปรี้ยวบ่อย หายใจลำบาก หรือสำลักบ่อย การรักษาทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตเพื่อควบคุมกรดไหลย้อน รับประทานยาลดกรด ควบคู่กับการรับประทานยารักษาอาการอักเสบของกล่องเสียง อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ หากคุมกรดไหลย้อนไม่ดีมีโอกาสกรดไหลย้อนลงหลอดลม ทำให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบ หากลงปอดก็จะทำให้ปอดอักเสบ นอกจากนี้ หากไม่รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้นานเกิน 5 ปี อาจก่อให้เกิดมะเร็งกล่องเสียงมากกว่าคนทั่วไป

พญ.วนิชา ปัญญาคำเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพสตรีกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดโรคกรดไลย้อนง่ายขึ้น เนื่องจากเมื่อตั้งครรภ์ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนทำให้หูรูดส่วนปลายหลอดอาหารทำงานได้น้อยลง จึงเอื้อให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนมากขึ้น นอกจากนี้ การที่เด็กในครรภ์โตขึ้นเรื่อยๆ มดลูกจะไปกดและดันกระเพาะอาหาร ทำให้น้ำย่อยมีโอกาสไหลย้อนง่ายขึ้น รวมไปถึงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ทำให้เกิดภาวะแน่นจนเกิดกรไหลย้อนหรือการรับประทานอาหารที่สร้างแก๊สและกรดมาก เช่น น้ำมะเขือเทศ ส้ม มะนาว ผักและผลไม้สด ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องปรับพฤติกรรม รับประทานอาหารมื้อละน้อยๆ แต่ทานบ่อยๆ และต้องแบ่งเวลาในการรับประทานให้ดี โดยจะต้องรับประทานให้เสร็จก่อนนอน 2 - 4 ชั่วโมง สวมเสื้อผ้าไม่รัดแน่น นอนโดยปรับหัวเตียงให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคกรดไหลย้อนไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์โดยตรง แต่อาการโรคกรดไหลย้อนะส่งผลกระทบต่อแม่ ทำให้ไม่สบายกายและใจ จนส่งผลกระทบทางอ้อมกับลูก 

ทั้งนี้ รพ.กรุงเทพ ร่วมกับสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยจัดงาน Food foe Gerd Market เนื่องในวันกรดไหลย้อนโลก ระหว่างวันที่ 29 - 30 พ.ค. นี้ เวลา 09.00 - 16.00 น. ณ ชั้น 1 อาคาร รพ.กรุงเทพ โดยจะให้บริการตรวจกรดไหลย้อนเบื้องต้นฟรี จำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ มีนิทรรศการให้ความรู้ รวมไปถึงงานเสวนาเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนมากมาย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น