ผลถกร่วมอาชีวะรัฐ-เอกชนกลุ่มเสี่ยง วางมาตรการสกัดทะเลาะวิวาท จับวิทยาลัยรัฐ-เอกชรวม 6 กลุ่มตามพื้นที่ตั้งเป็นศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังเหตุ พร้อมมอบครูที่ปรึกษาทำหน้าที่คัดกรองเด็กจัดเป็นกลุ่ม “สีขาว-สีเทา-สีดำ-ศิษย์เก่า” ทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย เพื่อแจ้งเหตุและให้มีการจัดทีมปกครอง และกำชับให้ผู้บริหารวิทยาลัยเข้มงวดตรวจตราไม่ให้เด็กแอบผลิตอาวุธ ที่อาจนำไปก่อเหตุรุนแรงได้
วันนี้ (20 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการ กอศ.) นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) พร้อมด้วยผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษากลุ่มเสี่ยง จำนวน 30 แห่ง แบ่งเป็น สังกัด สอศ. 21 แห่ง และสังกัด สช. 9 แห่งร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหาความรุนแรงและทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา โดยนายชัยพฤกษ์ กล่าวภายหลังประชุมว่า เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเริ่มเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 แล้ว ทำให้หลายฝ่ายจึงเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหานักเรียนอาชีวะทะเลาะวิวาทขึ้นอีก จึงได้ประชุมเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งที่ประชุมได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังนักเรียน นักศึกษาทะเลาะวิวาท ซึ่งได้รวมวิทยาลัยสังกัด สอศ.และ สช.มารวมกลุ่มตามพื้นที่ ดังนี้ 1.กลุ่มมีนบุรี มีวิทยาลัย11 แห่ง 2.กลุ่มอนุสรณ์สถาน(ดอนเมือง) มี 10 แห่ง 3.กรุงเก่า (โซนพื้นที่อยุธยา) มี 7 แห่ง 4.กลุ่มชัยสมรภูมิ มี 5 แห่ง กลุ่ม 5 สวนหลวง ร.9 มี 8 แห่ง และ6.กลุ่มธนบุรี (ฝั่งธนบุรี บางบอน สมุทรปราการ และนครปฐม) มี 12 แห่ง
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังมีข้อสรุปร่วมกันว่า ให้จำแนกเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มสีขาว ที่มีความประพฤติดี มีพื้นฐานชีวิตที่ดีและไม่มีความเสี่ยงจะเปลี่ยนพฤติกรรม กลุ่มสีเทา เด็กที่มีปัญหาในชีวิตและมีแนวโน้มจะกระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือก่อเหตุวิวาทได้ กลุ่มสีดำ เด็กที่มีพฤติกรรมก่อเหตุวิวาทเป็นประจำ และสุดท้าย กลุ่มศิษย์เก่า ทั้งนี้ ในการดูแลจะเน้นเด็กกลุ่มสีเทา และสีดำเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งครูที่ปรึกษาจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการคัดกรองเด็กแต่ละกลุ่ม และจะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ในการพัฒนาจะให้ครูจัดกิจกรรมดูแลเด็กเป็นพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเห็นความสำคัญของตนเอง เช่น กิจกรรมวันคล้ายวันเกิด กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน ส่วนกลุ่มศิษย์เก่านั้น จะประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วยดูแลและขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปเยี่ยมบ้านศิษย์เก่าด้วย
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายรับแจ้งเหตุ โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชน และศูนย์ข่าวแจ้งเหตุ ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการก่อเหตุที่ได้ผลมากและเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยแจ้งเบาะแสเพื่อสกัดปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งขอให้มีการประชุมร่วมกันทุกเดือนระหว่างผู้บริหาร ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องและจัดตั้งทีมปกครองร่วมกันและตั้งกรุ๊ปสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันแชท (Line) เพื่อใช้ในการสื่อสารร่วมกันโดยขอให้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากรุ๊ปไลน์ด้วย รวมถึงจะมีการติดสติ๊กเกอร์และป้ายเบอร์โทรศูนย์รับแจ้งเหตุตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลว่าถ้าเหตุเด็กก่อเหตุ หรือเห็นเด็กรวมตัวกัน ให้แจ้งทันที
“ได้มีข้อเสนอว่า ให้นำครูและนักเรียนแต่ละสถาบันไปร่วมกิจกรรมวันสำคัญ เช่น วันไหว้ครู และวันสถาปนาสถาบัน ของวิทยาลัยที่อยู่ใกล้เคียงกัน และมีข้อเสนออีกว่า เมื่อเกิดเหตุขึ้น หากวิทยาลัยใดเป็นฝ่ายผิด ก็ให้ผู้บริหารและนักศึกษาไปขอโทษวิทยาลัยอีกฝ่าย เพื่อให้เกิดความรู้สึกดีขึ้น นอกจากนี้ ให้สถานศึกษาทุกแห่งเฝ้าระวังไม่ให้เด็กแอบผลิตอาวุธที่จะนำไปก่อเหตุรุนแรง อาทิ ปืนปากกา ฯลฯ และให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสุ่มตรวจค้นด้วย และทันทีที่เกิดเหตุการทะเลาะวิวาทขึ้น ให้ผู้บริหารเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันเด็กก่อเหตุบานปลาย” เลขาธิการ กอศ. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่