xs
xsm
sm
md
lg

คุมราคา รพ.เอกชน ยาก แจงลงทุนเองหมด คิดค่ารักษาแบบรัฐไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ภาพจาก hfocus.org
รพ.เอกชน ย้ำ ค่ารักษาเทียบ รพ.รัฐ ไม่ได้ เหตุลงทุนเองทั้งหมด เผยราคาถูกกว่าสิงคโปร์ 35% ส่วนค่ายามีต้นทุนจากการประกอบโรคศิลปะ คุมราคาแบบร้านยาไม่ได้ ยินดีรักษาวิกฤตฉุกเฉิน แต่ขอเกณฑ์ฉุกเฉินสีแดงชัดเจน มีระบบส่งต่อ แก้ปัญหา รพ. ตามสิทธิเตียงเต็ม

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคม รพ.เอกชน กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กรณีค่ารักษาพยาบาลเอกชนแพง ว่า การคิดราคาของ รพ.เอกชน จะเปรียบเทียบกับภาครัฐไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ายา หรือค่าแพทย์ต่างๆ เพราะโครงสร้างการคิดราคาแตกต่างจากรัฐ โดย รพ.เอกชน นั้น ต้องลงทุนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างบุคลากร ค่าสร้างอาคารสถานที่ เป็นต้น ขณะที่ภาครัฐนั้นเงินเดือนบุคลากรร้อยละ 60 ก็มาจากภาษี ค่าก่อสร้างอาคารก็ได้รับงบประมาณจากรัฐ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รพ.เอกชน แต่ละแห่งก็ยังมีต้นทุนต่างๆ แตกต่างกัน มีทั้งที่ลงทุนระดับสูง ปานกลาง และ ระดับล่าง การคิดราคาก็ไม่เหมือนกัน แม้แต่ รพ.เอกชน ในเมืองหลวง และต่างจังหวัด ก็ต่างกัน แต่ทุกอย่างเราทำตามกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้น หากจะมีการคุมราคาต้องมีการศึกษาต้นทุนอย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น ค่าเสื่อม ค่าก่อสร้าง มูลค่าที่ดิน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันถือว่าค่ารักษา รพ.เอกชนในไทยยังถือว่าถูกกว่าสิงคโปร์ถึง 20 - 35% และอย่าลืมว่า รพ.เอกชน เป็นเพียงทางเลือกที่ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะไปรับบริการหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่จะมีการกำหนดราคากลางยา โดยให้บวกกำไรเพิ่มได้ไม่เกินเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด นพ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้รอที่ประชุมคณะทำงานเรื่องราคายาตามที่ รมว.สธ. แต่งตั้งได้หารือกันก่อน อย่างไรก็ตาม มองว่า ราคายาใน รพ.เอกชน เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบโรคศิลปะ ที่จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงและการป้องกันการแพ้ยา การบริหารจัดการยาต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ร้านขายยาที่จะเข้าไปซื้อยาแล้วจ่ายไปได้เลย ตรงนี้ก็ถือเป็นต้นทุนที่ต้องนำมาคิดด้วย ดังนั้น จำเป็นต้องศึกษาราคาต้นทุนให้ละเอียด และรับรู้ว่าภาคเอกชนมีต้นทุนอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า รพ.เอกชน มีหลายระดับตามต้นทุน สมาคมฯ มีการควบคุมดูแลค่ารักษาไม่ให้เกินระดับ รพ.เอกชน ของแต่ละแห่งหรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกลไกการแข่งขันทางการตลาด เพราะหาก รพ.เอกชนระดับล่างไปราคาแพงเกินไปก็คงไม่มีใครเข้าไปใช้บริการอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงความร่วมมือในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน นพ.เฉลิม กล่าวว่า รพ.เอกชน ยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่จะต้องทำแนวทางที่ชัดเจนว่าฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตหรือฉุกเฉินที่เป็นสีแดงหมายถึงอะไร ต้องออกระเบียบวิธีปฏิบัติให้ชัดเจน และอยากให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ประจำที่โรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดการถกเถียงระหว่าง รพ.เอกชน และคนไข้กับญาติว่าเป็นฉุกเฉินวิกฤตสีแดงจริงหรือไม่ และต้องพัมนาระบบส่งต่อผู้ป่วยหลังพ้นวิกฤตฉุกเฉินไปแล้ว ให้สามารถไปรักษาต่อได้ในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ป่วยมี ซึ่งที่ผ่านมาก็มักจะเจอปัญหาเตียงเต็มตลอด

ด้าน นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช เลขาธิการสมาคม รพ.เอกชน กล่าวว่า ค่ารักษาของ รพ.เอกชน มีหลายปัจจัย แต่ละแห่งต้นทุนก็แตกต่างกัน แต่ในเรื่องนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่า เพราะไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะเจ็บป่วยฉุกเฉิน เกิดอุบัติเหตุเมื่อไรและที่ไหน ดังนั้น รพ.เอกชน ยินดีช่วยเหลือให้พ้นวิกฤต และนำกลับสู่ รพ. ตามสิทธิเมื่อปลอดภัยแล้ว ปัญหาคือขอให้ภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้เข้าใจด้วยว่า แม้ รพ.เอกชน จะเข้าร่วมแต่ก็อยากให้เข้าใจด้วยว่า ค่าใช้จ่าย ต้นทุนต่างๆ มีอยู่ ขอให้คำนึงจุดนี้ เพื่อให้อยู่ได้ทั้งหมด สิ่งที่ควรดำเนินการตอนนี้ คือ วางระบบให้ดีว่ากรณีไหนวิกฤตฉุกเฉิน และค่าใช้จ่ายที่จะทำให้ รพ.เอกชน ไม่ขาดทุนหนัก เพราะเราไม่ได้ต้องการกำไรกับชีวิตคน แต่อยากให้เข้าใจการลงทุนด้วย อย่างไรก็ตาม รพ.เอกชนช่วยลดภาระ รพ.รัฐ มาตลอด เพราะเป็นทางเลือกให้กับคนที่พอมีกำลังจ่าย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น