xs
xsm
sm
md
lg

อัปเลเวล รพ.เพื่อนบ้าน ทางออก “ต่างด้าว” ล้นทะลัก รพ.ชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ปัญหาหนึ่งที่ รพ.ชายแดนเผชิญ คือ การดูแลผู้ป่วยต่างด้าวที่เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าว ชาวบ้านในประเทศเพื่อนบ้านที่ข้ามฝั่งมารักษา บ้างจ่ายเองได้ บ้างก็ไม่มีค่ารักษา แต่ตามหลักมนุษยธรรมแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ สุดท้าย รพ.ชายแดนหลายแห่งก็ต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้มหาศาล

นอกจากค่ารักษาพยาบาลแล้ว จำนวนคนต่างด้าวที่หลั่งไหลเข้ามาขอรับบริการ บางพื้นที่ก็เรียกได้ว่าแทบล้นทะลักโรงพยาบาล ซึ่งปี 2558 นี้ที่จะเปิดประชาคมอาเซียน ก็เป็นที่น่ากังวลว่า ปัญหาที่มีอยู่เดิมนี้จะทบทวีมากขึ้นไปอีก

สำหรับ รพ.คลองใหญ่ จ.ตราด แม้จะประสบปัญหาชาวกัมพูชาจำนวนมาก ทั้งที่มาแบบถูกกฎหมายและหลบหนีเข้ามา รวมไปถึงชาวจังหวัดเกาะกงที่เกินศักยภาพของ รพ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา ส่งต่อมารับการรักษา เป็นจำนวนมาก แต่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งสำคัญที่ รพ.คลองใหญ่ ดำเนินการคือ การเพิ่มศักยภาพหรืออัปเลเวลให้แก่ รพ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา จนสามารถให้บริการคนกัมพูชาเองได้ โดยไม่ต้องส่งต่อ

พญ.โมไนยา พฤทธิภาพย์ ผู้อำนวยการ รพ.คลองใหญ่ เปิดเผยถึงรายละเอียดว่า ชาวกัมพูชาที่อยู่ใน อ.คลองใหญ่ และที่ถูกส่งต่อมาจาก รพ.เกาะกงนั้น เข้าถึงการบริการของ รพ.คลองใหญ่มากถึง 30% ของผู้ป่วยนอิกและผู้ป่วยใน โดยกว่า 70% เป็นผู้ป่วยที่มาคลอด นอกจากนี้ ด้วยความที่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังยากจน จึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนที่เรียกเก็บไม่ได้มากถึง 1.5 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ รพ.ตราด ต้องรับส่งต่อแรงงานชาวกัมพูชาที่หลบหนีเข้าเมือง ผู้ป่วยหนักจาก รพ.เกาะกง ต้องรับภาระมากถึง 10 ล้านบาทต่อปี

หนทางแก้ปัญหาคือจะต้องเพิ่มศักยภาพการให้บริการของ รพ.เกาะกงให้ได้ และจะต้องผลักดันผู้ป่วยกลับประเทศ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ว่าเราไม่มีมนุษยธรรมในการช่วยเหลือผู้ป่วย หากเป็นผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินเราก็ต้องช่วยอย่างสุดความสามารถ แต่เมื่อพ้นวิกฤตแล้วก็ต้องส่งต่อกลับประเทศ ให้ รพ.เกาะกงเป็นผู้ดูแลต่อแทน แต่หากไม่ใช่ผู้ป่วยหนักและเป็นการให้บริการที่ รพ.เกาะกงสามารถทำเองได้ ก็จำเป็นที่จะต้องส่งกลับ

พญ.โมไนยา กล่าวว่า การไม่รับผู้ป่วยจาก รพ.เกาะกง เริ่มต้นมาจากภาวะวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2555 ทำให้ รพ.ต่างจังหวัดต้องช่วยเหลือรับส่งต่อจากผู้ป่วยใน รพ.กทม. ทำให้เตียง รพ.ตราดไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยต่างด้าว จึงเป็นช่วงจังหวะที่ รพ.คลองใหญ่ปรับกลยุทธ์ ส่งต่อผู้ป่วยกลับไปรักษาที่ รพ.เกาะกง และร่วมกับ รพ.เกาะกงพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.พนมเปญ เพื่อให้ผู้ป่วยหนักรอดชีวิต และพ้นภาวะวิกฤต เพราะการส่งต่อไป รพ.พนมเปญ ถือว่าใกล้กว่าการส่งต่อมายัง รพ.คลองใหญ่

ในปี 2556 มีการส่งผู้ป่วยกลับ รพ.เกาะกง จำนวน 46 คน และปี 2557 มีจำนวน 60 คน สำหรับการเพิ่มทักษะการให้บริการของ รพ.เกาะกงนั้น มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตราด รพ.ตราด และ รพ.คลองใหญ่ ไปสนับสนุนให้ความรู้ โดยเฉพาะทักษะการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน อุปกรณ์ และรถพยาบาลฉุกเฉิน เช่น การผ่าคลอด การผ่าตัดไส้ติ่ง ไส้เลื่อน ตาต้อกระจก เป็นต้น ส่งผลให้ปี 2558 ผู้ป่วยหนักกลับไปรับบริการที่ รพ.เกาะกงเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยส่งกลับมีเพียง 21 คน ขณะที่ภาวะฉุกเฉินหลังคลอด ซึ่งส่วนใหญ่มักส่งมาที่ รพ.คลองใหญ่ ปี 2558 ก็ยังไม่มีการส่งมา

พญ.โมไนยา เปิดเผยว่า ในปี 2558 รพ.คลองใหญ่ รพ.ตราด และ สสจ.ตราด จะไปสนับสนุนความรู้ เพิ่มศักยภาพให้แก่ รพ.เกาะกง อีกหลายด้าน เช่น การเจาะปอด การใส่เฝือก การใส่ท่อช่วยหายใจ การดูแลผู้ป่วยเบาหวานและความดัน การดูแลแม่และเด็กหลังคลอด ซึ่งจะอบรมแพทย์ รพ.เกาะกงที่ รพ.ตราด และอบรมพยาบาลที่ รพ.คลองใหญ่

การเพิ่มศักยภาพให้โรงพยาบาลประเทศเพื่อนบ้านสามารถดูแลประชาชนของตัวเองได้ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างความยั่งยืน สร้างสัมพันธภาพที่ดี และเป็นการช่วยกันควบคุมโรคตามแนวชายแดนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดบริการสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าว และประชาชนตามแนวชายแดนนี้ เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่ทำให้ รพ.คลองใหญ่ รวมไปถึง รพ.ทุกแห่งใน จ.ตราด ได้รับการรับรองคุณภาพจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น