การแข่งขันอย่างเสรี คือมือที่มองไม่เห็นในกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน หรือสมดุลที่ผู้ซื้อและผู้ขายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน นี่คือทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของโลกทุนนิยมเสรี การเข้าแทรกแซงกลไกตลาดจึงไม่ควรทำ ที่ไหนขายแพงเกินกว่าเหตุ ที่ไหนจัดบริการที่คุณภาพไม่ดี สุดท้ายกลไกตลาดจะจัดการเอง ดังนั้นภายใต้ฐานคิดนี้ ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศทุนนิยมเสรีจึงมึควรเข้าแทรกแซงธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนด้วยการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล
แต่การแพทย์นั้นมีลักษณะเฉพาะที่นักวิชาการฝรั่งเรียกว่า Asymmetry of Information แปลตรงๆว่า การไม่มีสมมาตรทางข้อมูลข่าวสาร หรือแปลให้ง่ายคือ ความไม่เท่าทันกันในทางความรู้และข้อมูลข่าวสาร
หากเราไปซื้อปลาซื้อผักในตลาด เรากับแม้ค้าเกือบจะมีความสมมาตรทางข้อมูล เพราะเราก็พอจะรู้และดูเป็นว่าผักสดไหม ปลาสดใหม่ไหม เช่นเดียวกัน เวลาเราไปซื้อโทรศัพท์มือถิอ ไปซื้อเสื้อผ้า เราก็พอจะประมาณการราคาที่เราพอใจกับคุณภาพของสินค้าได้ ซึ่งแปลว่าเรามีความเท่าทันในระดับใกล้เคียงกับพ่อค้าแม่ขาย โอกาสที่เขาจะย้อมแมวก็มีบ้างแต่ก็ไม่มากและไม่ง่ายนัก เพราะเรามีโอกาสที่จะจับติดได้สูงด้วยความรู้ที่เรามี
แต่หากรถเราเสีย พาไปเข้าอู่ อู่บอกว่าโน่นเสียนี่เสีย คนส่วนใหญ่เริ่มไม่เท่าทันทางความรู้และข้อมูลที่ช่างซ่อมบอกเราแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากเรารู้สึกแพงไปหรือเราคิดว่าไม่น่าจะอย่างที่ช่างบอก ก็ไม่เป็นไร เพราะเรายังรอได้ ไม่ซ่อมก่อน รอให้อู่หรือช่างคนอื่นมาดูมาตีราคาก็ได้
แต่กรณีที่เราเจ็บป่วยไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะในโรคที่มีความซับซ้อนหรือมีอาการที่ค่อนข้างเรื้อรัง เช่นเรามีอาหารไอมา 14 วัน กินยาไม่หาย การรักษาก็มีตั้งแต่รอดูอาการไปอีกสัปดาห์ ให้ยากินตามอาการ หรือจะเอ็กซเรย์แบบธรรมดา เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจเสมหะ ส่องกล้องเข้าไปดูในหลอดลม เราแทบจะต้องยินยอมตามที่แพทย์มีความเห็น การให้ยาก็อาจให้ยาชื่อสามัญหรือยาเดียวกันแต่เป็นแบรนด์จากเมืองนอกที่ราคาแพงๆ ทั้งหมดนี้ เป็นการตัดสินใจจากแพทย์เกือบทั้งสิ้น แม้แพทย์จะถามความเห็นผุ้ป่วยประกอบ แต่แท้จริงแพทย์คือยังเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้าย นี่คือสภาวะที่เป็น asymmetriy of information ที่เกือบจะสมบูรณ์แบบ ผู้ป่วยนั้นมีความรู้น้อยกว่าแพทย์มากจนไม่สามารถต่อรองหรือตรวจสอบการรักษาของแพทย์ได้ จึงเกิดเป็นช่องว่างให้การแพทย์พาณิชย์เจริญเติบโตบนความรู้ที่ไม่เท่ากันระหว่างแพทย์กับประชาชน เกิดการสั่งการรักษาที่เกินกว่าเหตุเพื่อการทำกำไร เกิดการคิดราคาค่ารักษาพยาบาลเกินจริง เพราะคิดเท่าไหร่ผู้ป่วยก็ต้องจ่าย อาจได้ส่วนลดปลอบใจบ้างเป็นกำลังใจ
ยิ่งโรงพยาบาลของรัฐแออัด คิวยาว รอนาน และมีบริการที่ไม่น่าประทับใจ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญที่กดดันให้ชนชั้นกลางที่ไม่รวยแต่พอจ่าย ไหว ยอมเสี่ยงเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน โดยที่ยากที่จะรู้ว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ จะหมดตัวไหม
ทฤษฏีมือที่มองไม่เห็นนี้ จึงใช้ไม่ได้กับสินค้าที่เป็นความรู้เฉพาะของผู้เชี่ยวชาญ และใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิงกับธุรกิจทางการแพทย์ ไม่อาจลดการผูกขาด ไม่อาจทำให้เกิดราคาที่สมเหตุผลจากการแข่งขัน จึงต้องใช้มือที่มองเห็นเข้ามาแทน นั่นคือ “กลไกการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล” มาช่วยในการปกป้องผุ้บริโภค เช่นการกำหนดว่า ค่ายาควรจะคิดกำไรได้กี่เปอร์เซ็นต์ ค่าตรวจของแพทย์ควรจะคิดครั้งละกี่บาท ราคาค่าเจาะเลือด ค่าตรวจพิเศษต่างๆ และยังควรมีการกำหนดเพดานสำหรับค่าใช้จ่ายประมาณการของแต่ละโรคด้วย(DRGs) ซึ่งเป็นไปตามที่นานาอารยประเทศเขาทำกัน
การควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนนอกจากเป็นการปกป้องประชาชนแล้ว ยังเป็นการปรับฐานการแพทย์ไทยไม่ให้เดินไปสู่ทิศทางแห่งการแพทย์พาณิชย์เฉกเช่นอเมริกาด้วย ราคาที่สมเหตุผลที่โรงพยาบาลเอกชนอยู่ได้ มีกำไรในการพัฒนาโรงพยาบาลได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นหรือเพื่อให้เจ้าของโรงพยาบาลมีเงินเก็บซื้อที่ดินแถวเขาใหญ่เป็นร้อยเป็นพันไร่ การลดกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลให้สมเหตุผล จะทำให้เกิดการแพทย์ที่สมเหตุผล เกิดการแพทย์ที่มุ่งเน้นการดูแลบรรเทาความเจ็บป่วยแทนที่จะเพื่อการหากำไร ลดภาวะสมองไหลจากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งจะทำให้การแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐดีขึ้น และทำให้คนในสังคมไม่หมดตัวในยามป่วยไข้หรือในวัยชรา
การควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนรวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เป็นอีกธงชัยเรื่องที่ควรทำให้สำเร็จยิ่งกว่าการการจัดการกับการขายสลากเกินราคา!!
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่