แพทยสภาหนุนตรวจสอบค่ายา รพ.เอกชน ต้องไม่โกง คิดราคามั่ว จี้สมาคม รพ.เอกชน ควบคุมกำกับ ด้าน สปสช. เตรียมงัดข้อมูลค่ารักษา รพ.รัฐ เป็นแนวทางคุมค่าใช้จ่าย รพ.เอกชน ขณะที่ สธ. เตรียมใช้ กม. คุมเอกชนมีสิทธิชะงัก เหตุ กม. ยาไม่มีกำหนดราคากลาง ไม่ระบุโทษขายยาแพง
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางควบคุมราคา รพ.เอกชน ว่า ส่วนตัวเห็นว่าเป็นไปได้ยาก เพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีต้นทุนต่างกัน แม้แต่รักษาโรคเดียวกันยังมีความแตกต่างกันมาก เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง บางคนเป็นไส้ติ่งอักเสบอย่างเดียว แต่บางคนมีโรคแทรกซ้อนด้วย การวินิจฉัยรักษาย่อมแตกต่างกัน ตรงนี้จะต้องมีการแจ้งราคาให้ประชาชนทราบ เพื่อตัดสินใจที่จะรักษาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่าต้องตรวจสอบไม่ให้มีการโกงค่ายา การคิดราคามั่ว ไม่สมเหตุผล จะคิดราคาเท่าไรต้องบอกคนไข้ก่อนเพื่อให้ตัดสินใจ ประเด็นอยู่ที่ว่าคนไข้รับรู้หรือไม่ มีส่วนในการตัดสินใจหรือไม่ เรื่องนี้ รพ.เอกชนต้องชี้แจง หรือสมาคม รพ.เอกชนต้องมาควบคุมกำกับมากขึ้น
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ สปสช.เข้าร่วมประชุมหารือเรื่องค่ารักษา รพ.เอกชน แพง วันที่ 15 พ.ค. นี้ เพราะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการคำนวนค่าใช้จ่าย ต้นทุนต่างๆ เพราะโรงพยาบาลรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการล้วนมีการคำนวนราคาในการรักษาต่างๆ ชัดเจน ทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก อย่างบัตรทองก็จะมีแบ่งชัดเป็นรายกลุ่มโรค นอกเหนือจากเงินเหมาจ่ายรายหัว แต่ รพ.เอกชน นั้น ไม่ทราบเลยว่ามีต้นทุนมากน้อยแค่ไหน และราคาในการรักษาควรเป็นเช่นไร ซึ่งอาจต้องใช้ข้อมูลที่ สปสช. มีเป็นแนวทางในการควบคุมราคาค่าใช้จ่าย รพ.เอกชน อย่างไรก็ตาม มองว่า รพ.รัฐ ต้องพัฒนาด้วย และเน้นส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งขณะนี้มีทีมหมอครอบครัวเป็นทางเลือก ทั้งนี้ ต้องไม่ทำแค่ในต่างจังหวัดเท่านั้น ใน กทม. หรือเมืองใหญ่ๆ ก็ต้องมี แม้ กทม. จะไม่มีโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิมากนัก แต่ก็สามารถดำเนินการได้ โดยดึงคลินิกเอกชนกว่า 300 แห่งมาทำงานเป็นหมอประจำคน กทม. ซึ่งจะมีการหารือว่าจะเดินหน้าอย่างไร คาดว่าจะดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า กฎหมายต่างๆ ที่จะนำมาใช้ควบคุมราคา รพ.เอกชน มีปัญหาตรงที่ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ไม่ได้ระบุว่าจะเอาผิดบริษัท หรือโรงพยาบาลที่จำหน่ายยาราคาแพง เพราะไม่เคยมีการกำหนดราคากลาง ซึ่งเรื่องราคาเป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายใน แต่ในร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่จะให้ยาตัวใหม่ที่จะขึ้นทะเบียน อย. ต้องเปิดเผยโครงสร้างราคายาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ หากไม่เหมาะสมอาจไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน แต่ก็จะบังคับได้เฉพาะยาใหม่เท่านั้น ส่วน พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ระบุให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องแจ้งค่าบริการ หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับ 20,000 บาท จึงมีการพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ช่องทางกฎหมายที่บังคับได้จริง คือ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพราะมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ ระบุชัดว่า ยา คือ สินค้าที่ต้องควบคุม จำเป็นต้องหารือร่วมกันว่าจะใช้ช่องทางนี้อย่างเข้มงวดได้หรือไม่ เพราะกฎหมายกระทรวงพาณิชย์มีโทษในเรื่องสินค้าควบคุมมากกว่าของ สธ. เพราะมีโทษ ทั้งปรับและจำคุก
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่