xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! บ.บุหรี่ข้ามชาติ ค้าน สธ.เสนอ กม.บุหรี่ฉบับใหม่ อ้างไม่จำเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอประกิต” แฉ บ.บุหรี่ข้ามชาติ ยื่นหนังสือถึงเลขานุการ ครม. ค้าน สธ. เสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมบุหรี่ฉบับใหม่ อ้างไม่มีความจำเป็น ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ก่อน เช่นเดียวกับอเมริการถูกค้านหนักหลังพยายามออกกฎคุมยาสูบเช่นกัน

รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน 1,000 คน ผ่านเมลกรุ๊ป ระหว่างวันที่ 2 - 5 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่า เกือบทั้งหมดต้องการให้องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาควบคุมบริษัทบุหรี่อย่างเข้มงวด ภายใต้กฎหมายควบคุมยาสูบ Family Smoking Prevention and Tobacco Control Act. ค.ศ. 2009 โดยร้อยละ 96 เห็นควรให้มีการตรวจอายุผู้ซื้อบุหรี่ที่เป็นเยาวชน ร้อยละ 92 ให้มีการทำโทษร้านค้าปลีกที่ขายบุหรี่ให้แก่เด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ร้อยละ 91 ให้มีการควบคุมการตลาดที่พุ่งเป้าไปที่เด็ก ร้อยละ 86 เห็นควรให้องค์การอาหารและยาเห็นชอบก่อนที่ยาสูบประเภทใหม่ๆ จะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ ร้อยละ 81 เสนอให้ห้ามใช้สารปรุงแต่งที่เพิ่มความเย้ายวนต่อเด็ก และร้อยละ 81 เห็นควรให้พิมพ์คำเตือนขนาดใหญ่บนซองบุหรี่

รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ แม้จะมีการควบคุมยาสูบมา 50 ปี แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในสหรัฐฯยังอยู่ที่ 42.1 ล้านคน อัตราการสูบบุหรี่ล่าสุดของชายอเมริกัน เท่ากับ ร้อยละ 20.5 และหญิงร้อยละ 15.3 มีชาวอเมริกัน 16 ล้านคน ที่กำลังป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และเสียชีวิตปีละ 480,000 คน ทั้งนี้องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาพยายามที่จะออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมยาสูบ แต่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากบริษัทบุหรี่ โดยเฉพาะบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ที่ครองตลาดส่วนใหญ่ในอเมริกา

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ได้ทำหนังสือถึง เลขานุการคณะรัฐมนตรี คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยระบุว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายควบคุมยาสูบฉบับใหม่ ควรเน้นการให้ความรู้แก่ประชาชน และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ในขณะที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส มีกำไรจากการขายบุหรี่ในประเทศไทยปีละ 3,000 ล้านบาท และคนไทยตายจากการสูบบุหรี่ปีละห้าหมื่นคน
 
 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น