xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห่วงผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อย หวั่นขาดน้ำ เสี่ยงหัวใจล้มเหลว-ไตวาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เผย ผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน หวั่นเกิดภาวะขาดน้ำในช่วงหน้าร้อน อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลว และไตวาย วอนลูกหลานผู้ดูแลใส่ใจกระตุ้นให้ดื่มน้ำทุกชั่วโมง

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการศึกษาโครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545 - 2564) ระยะที่ 2 (พ.ศ.2550 - 2554) พบว่า ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมดื่มน้ำสะอาดไม่น้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน ทำเป็นประจำ ร้อยละ 51.6 ทำเป็นบางครั้ง ร้อยละ 40.4 และไม่ทำ ร้อยละ 8.0 ตามลำดับ และจากรายงานการสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทย ปี 2556 ภายใต้แผนงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ พบว่า ผู้สูงอายุดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ 65 ดื่มเป็นบางครั้ง ร้อยละ 27 และไม่ดื่ม ร้อยละ 8 โดยเพศชายดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ 67 มากกว่าเพศหญิงที่ดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ 62 และในปีเดียวกันการสำรวจในเขตบริการสุขภาพที่ 5 จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม พบว่า ผู้สูงอายุดื่มน้ำสะอาด ไม่น้อยกว่า 8 แก้วต่อวัน เป็นประจำ ร้อยละ 60.1 เป็นบางครั้ง ร้อยละ 32.6 และไม่ทำ ร้อยละ 7.3 โดยเพศหญิง ดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ 54.2 มากกว่าเพศชายที่ดื่มน้ำเป็นประจำ ร้อยละ 45.8 แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุของไทยในภาพรวมของประเทศและส่วนภูมิภาคมีพฤติกรรมการดื่มน้ำในประมาณที่ถูกต้องเหมาะสมจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุทั้งหมดเท่านั้น ในส่วนที่เหลือดื่มน้ำในประมาณที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะมีผลเสียหรืออันตรายต่อสุขภาพ อาจนำมาสู่ภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อนนี้ที่อุณหภูมิสูงขึ้นจนบางครั้งมีอุณหภูมิใกล้เคียงหรือมากกว่าอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำเป็นอย่างมาก

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า อาการแสดงภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ คือ ชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทำให้วิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย หมดสติ มีภาวะสับสน เยื่อบุปากแห้ง ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลงมาก แต่มีปริมาณปัสสาวะปกติ เพราะไตไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในภาวะขาดน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะในระยะแรกของภาวะขาดน้ำไม่ลดลง จนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย ทำให้หัวใจล้มเหลวและไตวาย ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุจะมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน แต่จะแสดงอาการชัดเจนเมื่อมีความรุนแรงแล้ว

ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลงทำให้น้ำในร่างกายผู้สูงอายุลดลง การตอบสนองต่อความกระหายน้ำลดลงทำให้ไม่ ดื่มน้ำ ร่างกายจึงไม่ได้น้ำชดเชย ประกอบกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หกล้มง่าย ข้อเข่าเสื่อม ซึมเศร้า สมองเสื่อม ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ เนื่องจากสภาพจิตใจ หรือมีความยากลำบากในการเข้าห้องน้ำ อาจต้องพึ่งพาผู้ดูแล หรือไม่มีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือ หรือผู้ดูแลอาจจะไม่ได้จัดหาน้ำดื่มให้ จึงได้รับน้ำไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 40 เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องได้รับยาขับปัสสาวะทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง และปัญหาช่องปากทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร ปัญหาตาทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน จึงไม่อยากไปจัดหาน้ำดื่ม และที่สำคัญคือ ผู้สูงอายุที่มือสั่นหยิบจับ หรือกำไม่ได้ จะไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตนเอง ผู้ดูแลจึงควรจัดหาน้ำให้ท่านดื่มวันละ 8 แก้ว และกระตุ้นให้ดื่มทุกชั่วโมง โดยให้ดื่มเครื่องดื่มที่ชอบ จัดหาแก้วมีหูจับหรือสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอดโดยวางแก้วไว้บนโต๊ะข้างเตียง การกินยาและอาหารให้ดื่มน้ำ อย่างน้อย 1 แก้ว นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบโรคควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น