แพทยสภาเร่งสำรวจ “หมอป้ายแดง” ย้อนหลัง 4 ปี ล้วงลึกหาเหตุผลลาออกจากระบบ เลิกใช้ทุนกลางครัน ดึงสถิติสูงสุดปีก่อน 10 ตัวเลือก หวังวงยุทธศาสตร์แก้ปัญหา
นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาได้สำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาแพทย์เพื่อให้ทราบปัญหาและเหตุผลที่จะออกจากระบบ โดยทำมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ในปีนี้จะสำรวจความคิดเห็นย้อนหลัง 4 ปี ของแพทย์จบใหม่ว่าเหตุผลที่ทำให้แพทย์ลาออกจากการสรุปสถิติของปีก่อนๆ คือ 1. ทุน..ไม่มีทุนในสาขาที่ต้องการ 2. ทุน..โดนจำกัดสิทธิไม่ให้เรียนสาขาที่ต้องการ 3. ทุน..มีทุนแต่ใช้ทุนในที่ๆไม่ต้องการ 4. งาน..ภาระงานหนัก เหนื่อย เกินกำลัง เสี่ยง 5. งาน..รู้สึกถูกเอาเปรียบ, ไม่เป็นธรรม จากเพื่อน, พี่, ผู้บริหาร 6. ค่าตอบแทน..ต่ำ ไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสม 7. สถานที่..อยู่ในพื้นที่ กันดาร ห่างไกล อันตราย ไกลครอบครัว 8. ครอบครัว..ต้องดูแลครอบครัว 9. เป้าหมาย..ไม่อยากเป็นหมอ..ออกมาทำอาชีพอื่นๆ บริหาร หุ้น วิชาชีพอื่น และ 10. ความงาม..สนใจและชอบด้านความงาม ถูกเชิญชวน เงื่อนไขดี รายได้ดี อิสระ
นพ.อิทธพร กล่าวว่า การตั้งคำถามดังกล่าวเพื่อสำรวจในเบื้องต้นว่า อะไรบ้างที่มีผลต่อการตัดสินใจลาออกจากการใช้ทุน เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่สุด ซึ่งการแก้ปัญหากำลังคนจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ข้อเท็จจริงในการวางแผน จะใช้เพียงแค่ระบบคุณธรรรม จริยธรรม หรือ การคาดคะเนไม่ได้ โดยแพทยสภาได้ใช้สื่อออนไลน์ในการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ โดยมีเงื่อนเวลากำหนดการสำรวจให้เสร็จภายใน 30 เม.ย. และจะมีการนำเข้าที่ประชุมของแพทยสภา เพื่อนำไปใช้ประกอบการวางยุทธศาสตร์การทำงานของแพทยสภาต่อไป โดยการวางยุทธศาสตร์นั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน วางจุดยืนของแพทยสภาว่า ต่อจากนี้จะทำเพื่อประชาชน สังคม และวงการแพทย์อย่างไร
“สิ่งที่แพทยสภาคาดหวังคือ การสร้างแพทย์ที่สามารถดูแลชุมชนได้ และต้องทำให้แพทย์มีความสุขมากพอ เต็มใจที่จะดูแลประชาชน การสำรวจจะทำให้ทราบได้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน เพราะเหตุผลที่แท้จริงอาจไม่ใช่แค่เงิน แต่เป็นระยะทาง ระบบการบริหารจัดการก็ได้ โดยในการใช้ทุนแต่ละปี ก็มีเหตุผลที่เปลี่ยนไปในการลาออกจากระบบ การสำรวจย้อนหลัง 4 ปี จึงจะทำให้ทราบได้ว่า ปัญหาของแต่ละช่วงเวลาของแพทย์จบใหม่นั้นเป็นอย่างไร เพราะแพทย์จบใหม่การใช้ทุนปีแรกจะอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ จากนั้นจะไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนที่เล็กลงและสามารถเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางได้ อย่างไรก็ตาม การสำรวจดังกล่าวยังไม่ใช่การสำรวจอย่างเป็นทางการแต่จะเป็นฐานเพื่อนำไปสู่การวิจัยต่อยอดในอนาคต” รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่