ก.การท่องเที่ยวฯ - สสส. รณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ปีที่ 10” ชี้ เหล้า ทำสงกรานต์เลือด เมาแล้วขับ ทะเลาะวิวาท หนุนสร้างพื้นที่สงกรานต์ปลอดเหล้า จัด Zoning เล่นสาดน้ำ งดขาย - งดดื่มบริเวณจัดงานฯ เล่นน้ำแบบสุภาพ ฟื้นวัฒนธรรมประเพณีดีงาม ไฮไลต์ 40 ถนนตระกูลข้าวทั่วประเทศ แกนนำร่วมสร้างความสุข ปลอดภัยและปลอดเหล้า หวัง!! ให้ 7 มาตรการเพื่อความปลอดภัย ช่วยลดอัตราการสูญเสีย ส่งเสริมภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 3 เมษายน ที่ลานกิจกรรม Central World สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศ จัดแถลงข่าว “คืนความสุขทั่วไทย สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า ปี 2558” เพื่อลดการศูนย์เสียและลดความรุนแรง พร้อมนำคุณค่าทางวัฒนธรรม ประเพณีของไทยที่ดีกลับคืนมา
โดย รศ.ดร.ชวนี ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ประเพณีสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการให้คุณค่ากับครอบครัว ผู้สูงอายุ และการใช้เวลาเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อน ที่ผ่านมา สงกรานต์เป็นหนึ่งเทศกาลที่มีความสูญเสียจำนวนมากจากอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดต่อเพศหญิง การแต่งกายที่โป๊เปลือยไม่เหมาะสม การขาดสติเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไทย การส่งเสริมให้มีพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัย ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ สสส. และภาคีเครือข่าย สอดคล้องกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้ผลักดันวิถีปฏิบัติการเล่นน้ำในประเพณีสงกรานต์ตามวิถีไทย เพื่อส่งเสริมนโยบายท่องเที่ยววิถีไทย ตามที่เป็นมติ ครม. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเป็นหน่วยงานร่วมประสานและผนึกพลังความร่วมมือทางสังคม สร้างวัฒนธรรมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เพื่อให้งานสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ เป็นเทศกาลแห่งความสุขและปลอดภัยอย่างแท้จริง
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องของอุบัติเหตุ พบว่า สงกรานต์ปี 2557 ที่ผ่านมา มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 2,992 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,225 ราย และผู้เสียชีวิต 322 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเมาแล้วขับ ร้อยละ 36.76 ลดลงจากปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 39.1 โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.14 และอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.60 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.74 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของประชาชนที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ และการออกมาเล่นสาดน้ำ ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยงใน 7 วันของการรณรงค์ในมาตรการเมาสุราในปี 2557 อยู่ที่ 978 ลดจากปี 2556 ที่มีจำนวน 1,050 ราย นอกจากพฤติกรรมเมาแล้วขับ ยังพบพฤติกรรมความรุนแรงจากการเมาจนขาดสติ ทำให้เล่นน้ำด้วยความรุนแรงจนไปสู่การทะเลาะวิวาทจนบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ด้วยเช่นกัน
ทพ.กฤษดา กล่าวว่า สสส. ภาครัฐ และประชาสังคมเครือข่ายงดเหล้า 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขอรณรงค์ 7 มาตรการสงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าด้วยกัน คือ 1. พื้นที่โซนนิงเล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย 2. สร้างนโยบายสาธารณะให้สงกรานต์ปลอดภัย 3. ควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ปลอดแป้งสี ปลอดโป๊ ปลอดน้ำแข็ง ปลอดปืนฉีดน้ำแรงดันสูง 4. สนับสนุนกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน 5. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการตลาดที่ไม่รับผิดชอบจากธุรกิจแอลกอฮอล์ 6. ใช้มาตรการชุมชน เพื่อปกป้องดูแลลูกหลาน 7. ฟื้นประเพณีวัฒนธรรมสงกรานต์ไทยๆ
“สสส. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น ได้ริเริ่มรณรงค์จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แล้ว โดยมีต้นแบบมาจาก ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ที่มีมาตรการควบคุมการจำหน่ายและดื่มในพื้นที่จัดงาน สามารถลดความรุนแรงได้จากที่เคยมีสถิติทะเลาะวิวาททุกชั่วโมง จนไม่มีการทะเลาะวิวาทเลยในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันเกิดเป็นกระแสการสร้างพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยไปทั่วประเทศ โดยมีถนนเล่นน้ำตระกูลข้าวกว่า 40 พื้นที่ ถนนอื่นๆ อีกกว่า 100 แห่ง จาก 77 จังหวัด และคาดว่า ปี 2558 นี้ จะมีภาคเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก และจะมีการกำหนดพื้นที่โซนนิงเล่นน้ำปลอดเหล้าไม่น้อยกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ” ผู้จัดการ สสส. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่