xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! คนเมินฉีดวัคซีนหวัดใหญ่เพิ่มขึ้น 40% เชื่อร่างกายแข็งแรงพอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โพลชี้ ปชช. เมินฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น 40% เหตุคิดว่าร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องฉีด กระแสไข้หวัดใหญ่ปีนี้ไม่แรงพอ กรมควบคุมโรคจ่อสร้างความเข้าใจ จัดวัคซีน 3.4 ล้านโดส ฉีดกลุ่มเสี่ยง พ.ค. นี้ ด้านหมอจุฬาฯชี้ต้องป้องกันในวัยหนุ่มสาวป่วย ช่วยสกัดผู้สูงอายุป่วยตาม

วันนี้ (31 มี.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าว “ผลสำรวจทัศนคติโรคไข้หวัดใหญ่” ว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อโรคไข้หวัดใหญ่ โดย DDC Poll ว่ามีความรู้ความเข้าใจเพียงใด เนื่องจากช่วง พ.ค. เป็นต้นไป จะเข้าสู่ช่วงพบการระบาด โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 3,024 ตัวอย่าง ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 24 จังหวัด ระหว่างวันที่ 9 - 20 มี.ค. 2558 พบว่า ร้อยละ 31.9 เข้าใจว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันจากการไอและจามรดกัน ส่วนเมื่อมีอาการป่วยจะปฏิบัติตัวอย่างไรนั้นพบว่า ร้อยละ 31.5 เข้าใจถูกต้องคือต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ และร้อยละ 28.1 หยุดเรียน/หยุดงาน พักผ่อนอยู่บ้าน ขณะที่ร้อยละ 60.4 ทราบว่าต้องสวมหน้ากาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่น แต่กลับพบว่ายังมีคนรังเกียจเมมื่อพบเห็นผู้สวมหน้ากากอนามัยอยู่ ร้อยละ 6.5 มากกว่าปี 2557 ที่อยู่ที่ ร้อยละ 5.11 ซึ่งกรณีนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

จากผลสำรวจดังกล่าว ชัดเจนว่าต้องมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มขึ้นว่า การสวมหน้ากากอนามัยเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เป็นเรื่องที่ควรยกย่องมากกว่ารังเกียจ นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค พบว่า มีประชาชนอยากฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพียงร้อยละ 33 ลดลงจากปี 2557 ที่อยากฉีดวัคซีนถึงร้อยละ 73 แต่กลับลดลงถึงร้อยละ 40 แสดงให้เห็นว่าการป้องกันโรคในประชาชนกลุ่มตัวอย่างเริ่มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจมาจากไม่สนใจการป้องกันโรค คิดว่าตัวเองสุขภาพแข็งแรง ประกอบกับปีนี้กระแสไข้หวัดใหญ่ไม่แรงมากก็เป็นได้” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ปีนี้จึงต้องเน้นรณรงค์ให้ประชาชนยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ออกกำลังกาย พักผ่อนเพียงพอ และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะหากป่วยแล้วอาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป มี 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ขวบ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด เบาหวาน โรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างทำเคมีบำบัด นอกจากนี้ ต้องป้องกันในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และผู้มีหน้าที่กำจัดสัตว์ปีก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะเริ่มฉีดในกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่ พ.ค.- ก.ค. นี้ จำนวน 3.4 ล้านโดส

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การป้องกันการป่วยไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุต้องป้องกันในกลุ่มวัยหนุ่มสาวด้วย เพื่อตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อ เพราะการรักษาผู้ป่วยสูงอายุส่วนใหญ่จะพบว่า มีการติดเชื้อไข้หวัดมาจากลูกหลานที่ป่วยเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อผู้สูงอายุติดเชื้อกลับมีอาการรุนแรง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น