xs
xsm
sm
md
lg

ยันหวัดใหญ่ระบาดเพชรบูรณ์เป็นเชื้อตามฤดูกาล ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. ยันหวัดใหญ่ระบาดเพชรบูรณ์เป็นเชื้อตามฤดูกาล ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ เผยสถานการณ์ปีนี้ป่วยแล้ว 14,000 กว่าราย เสียชีวิต 11 ราย แนะวิธีป้องกัน

วันนี้ (16 มี.ค.) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หลายคนป่วยไล่เลี่ยกันที่ จ.เพชรบูรณ์ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักระบาดวิทยาร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพชรบูรณ์ ป้องกันและควบคุมโรคแล้ว ซึ่งเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบครั้งนี้เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบในไทยอยู่แล้ว ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ หากประชาชนมีอาการสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอด หอบหืด เป็นต้น ขอให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากการได้ยาต้านไวรัสเร็ว จะทำให้อาการป่วยหายได้เร็วและไม่รุนแรง ส่วนประชาชนทั่วไป สามารถป้องกันได้ โดยต้องดูแลสุขภาพตนเอง หมั่นล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดบ่อยๆ ให้ปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม หากมีอาการไข้หวัด ให้สวมหน้ากากป้องกัน หยุดเรียน หรือหยุดงานจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้สภาพอากาศในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากปลายฤดูหนาวเข้าสู่ต้นฤดูร้อน บางพื้นที่อาจมีฝนตก ประชาชนอาจเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย ผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 มกราคม - 9 มีนาคม 2558 พบผู้ป่วยทั่วประเทศสะสม 14,743 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 7 - 24 ปี อาการไข้หวัดใหญ่มักเริ่มต้นด้วยไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการมักไม่รุนแรง และจะทุเลาหายป่วยภายใน 5 -7 วัน บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่นปอดอักเสบรุนแรง ปอดบวม อาจทำให้เสียชีวิตได้ ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่จะรักษาตามอาการ โดยเช็ดตัวลดไข้ หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้เช่นพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน ผู้ป่วยขอให้หยุดเรียน หรือหยุดทำงานจนกว่าจะหายเป็นปกติ นอนพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำ และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

“หากอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงหรือมีอาการรุนแรง ให้รีบพบแพทย์ให้การรักษา ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาจเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กอายุเล็ก ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และผู้มีโรคอ้วน หากมีอาการที่กล่าวมาให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยให้หายเร็วและอาการไม่รุนแรง ในการป้องกันโรค ขอให้ประชาชนล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นเช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด” อธิบดี คร. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น