xs
xsm
sm
md
lg

ยกย่อง “สมเด็จพระเทพฯ” เจ้าฟ้านักการศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยกย่อง “สมเด็จพระเทพฯ” ทรงเป็นปราชญ์รอบรู้หลายด้าน และทรงเป็นเจ้าฟ้านักการศึกษาที่เชี่ยวชาญการศึกษามาก และทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา ด้วยทรงมองว่าการศึกษาทำให้คนมีความสามารถสูง ขณะที่การสอนในมหา’ลัยต้องไม่รู้เพียงลึก แต่ต้องเรียนรู้กว้างด้วย

วันนี้ (25 มี.ค.) ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัยศึกษา จุฬาฯจัดงานเสวนาทางวิชาการและนิทรรศการ เรื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา โดยมี รศ.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นปราชญ์รอบรู้หลายด้าน ทรงพระราชกรณียกิจมากมาย ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้านักการศึกษา ที่ทรงเชี่ยวชาญด้านการศึกษาอย่างมาก พระองค์ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 โดยเริ่มจากโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียนไปจนถึงการศึกษาขั้นสูง โดยทรงรับสั่งว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาให้สูงขึ้นได้ เพราะการศึกษาทำให้คนมีความสามารถสูงขึ้น แม้แต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากันแต่ต้องให้โอกาสเท่ากัน และแนวทางดังกล่าวองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ก็ได้ประกาศเป็นปฏิญญา “การศึกษาเพื่อปวงชน” หรือ Education for All อีกด้วย

คุณหญิง สุมณฑา กล่าวต่อด้วยว่า พระองค์ยังทรงเป็นนักปฏิบัติ ลงมือทำและศึกษาทฤษฎีมาประกอบกัน ทรงเห็นว่าการวิจัยสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กระดับอนุบาล และเมื่อถึงระดับบัณฑิตศึกษาจะต้องเป็นงานวิจัยที่มีแบบแผนวิชาการลงลึกรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทรงมีแนวพระราโชบายในการพัฒนาให้ครบทุกด้านทั้งสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่พัฒนาเฉพาะความรู้ในตำราเท่านั้น และทรงย้ำว่าการศึกษาต้องเชื่อมโยงกับชีวิต โดยมีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติจริงทุกเรื่อง ทรงรับสั่งว่า หากมีแต่ทฤษฎีไม่ปฎิบัติก็จะทำไม่เป็น ก็จะเป็นวิชาการที่เพ้อฝัน หากปฏิบัติแต่ทฤษฎีไม่เข้มแข็งก็จะเป็นคนที่มีความคิดคับแคบ อีกทั้ง การศึกษาต้องเติมเต็มตามศักยภาพแต่ละบุคคล และเป็นประโยชน์แก่ทุกคน โดยสถานศึกษาสามารถเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชน และสังคม ครู อาจารย์ ต้องสวมหัวใจการเป็นนักพัฒนาด้วย รวมถึงพระองค์ยังทรงใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเรียนรู้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ห่างไกล ผู้พิการ ผู้ป่วย ผู้ต้องขัง และสามเณร ฯลฯ

“สำหรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย พระองค์ทรงรับสั่งว่าไม่ใช่เพียงเรียนรู้ลึก แต่ต้องรู้กว้าง เพื่อเชื่อมโยงวิชาการต่างๆ ได้ และที่สำคัญต้องมีจริยธรรม วิชาการ และวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงพัฒนาบัณฑิตศึกษาในทุกด้าน โดยทรงส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษได้เรียนบัณฑิตศึกษา เพื่อเป็นนักวิชาการ นักวิจัย นักพัฒนา ทรงพัฒนานักวิจัยและการวิจัยระดับแนวหน้า ทรงบุกเบิกสาขาวิชาใหม่ๆ และสหวิทยาการ ทรงสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีทั้งรุ่นอาวุโสและรุ่นใหม่ ทั้งภายในและต่างประเทศ และทรงส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการ ทรงติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอยู่เสมอ” คุณหญิง สุมณฑา กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น