xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวแอปฯ แฉ “ยา-อาหารเสริม-เครื่องสำอาง” อันตราย บอกสารพิษ แหล่งขายชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. เปิดตัวแอปฯ “ทำดี ดรัก อเลิร์ต” แจ้งเตือนภัย “ยา - อาหาร - เครื่องสำอาง” อันตราย พร้อมโชว์รูปประกอบ สารพิษที่พบ แหล่งที่มาชัดเจน มีให้ตรวจสอบแล้วกว่า 200 รายการ ส่วน “อย. สมาร์ท แอปพลิเคชัน” เตรียมอัปเดตเวอร์ชัน 2 เม.ย. นี้ ตรวจสอบเลข อย.อาหารเสริม และค้นหาร้านยาคุณภาพได้

วันนี้ (24 มี.ค.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยสินค้าอันตรายจากยา เครื่องสำอาง อาหาร กดปุ๊บรู้ปั๊บปลอดภัย? ว่า จากการเฝ้าระวังสินค้าสุขภาพที่ผ่านมา พบว่า มีการลักลอบใส่สารต้องห้ามอย่างต่อเนื่อง เช่น สเตียรอยด์ในยาชุด ยาสมุนไพรแผนโบราณ สารไซบูทรามีนในอาหารเสริม สารไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ และสารปรอทในเครื่องสำอาง รวมไปถึงสารบอแรกซ์ และฟอร์มาลินในอาหาร เป็นต้น ซึ่งสารแต่ละตัวล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเป้นจำนวนมาก อย่างสเตียรอยด์ทำให้เกิดโรคคุชชิงซินโดรม จะมีใบหน้าบวมกลมเป็นรูปพระจันทร์ เป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ค่ารักษาจากสเตียรอยด์รวมแล้วไม่น้อยกว่าปีละ 1,900 ล้านบาท

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า สธ. จึงได้จัดทำแอปพลิเคชันเตือนภัยสินค้าอันตรายขึ้น 2 ตัว เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน ซึ่งสามารถใช้ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และไอโอเอส ประกอบด้วย แอปพิเคชัน “ทำดี ดรัก อเลิร์ต (Tumdee drug alert)” ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วยให้รู้สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ “อย. สมาร์ท แอปพลิเคชัน (Oryor Smart Application)” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะให้ข้อมูลความรู้พิษภัยของสารต้องห้าม และสามารถรับแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยคุ้มครองประชาชน เนื่องจากคนไทยใช้สมาร์ทโฟนมากถึง 48 ล้านคน โดยต่อไป สธ. จะเชื่อมต่อระบบกับกระทรวงไอซีที เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ง่ายสะดวกเร็วขึ้น

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลเตือนภัยในแอปฯ “ทำดี ดรัก อเลิร์ต” ได้มาจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง ที่จำหน่ายในชุมชน หมู่บ้านทั่วประเทศของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ 16 แห่งแล้ว พบว่าอันตรายจริง ก็จะนำมาเตือนภัยในแอปฯ โดยแสดงทั้งรูปภาพผลิตภัณฑ์ ฉลาก สารพิษที่พบ แหล่งที่มา ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้ว 200 กว่ารายการ บางรายการพบใช้เลขทะเบียน อย. ปลอม ข้อมูลบางรายการพบว่ามีคนป่วยแล้ว เช่น ขาบวม ไตวาย โดยผู้สูงอายุที่อยู่บ้านมักตกเป็นเหยื่อ เพราะหลงเชื่อง่าย และสุขภาพไม่ดี นอกจากนี้ กรมฯยังพัฒนาชุดทดสอบสารอันตราย 19 ชุด เป็นอาหาร 13 ชุด เครื่องสำอาง 4 ชุด และยา 2 ชุด ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) 10,000 แห่ง และ อสม. ใช้ พบว่า ได้ผลดี โดยปี 2558 จะขยายใน รพ.สต. 3,000 แห่ง และครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2559 ส่วนชุดทดสอบสารต้องห้ามในสมุนไพร วัตถุดิบผลิตยาสมุนไพรอยุ่ระหว่างการพัฒนา 2 ตัว คือ สารหนู และ ตะกั่ว

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย. สมาร์ท แอปฯ ประกอบด้วย 7 เมนู ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่น่าสนใจคือ สามารถตรวจเลขที่ใบรับแจ้งเครื่องสำอาง นอกจากนี้ ยังสามารถรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย พร้อมแนบรูป เพื่อใช้เป็นข้อมูลไปดำเนินคดีตามกฎหมาย ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 130,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าว่าต้องมียอดดาวน์โหลดมากกว่าล้านครั้ง สำหรับเวอร์ชัน 2 ใน เม.ย. นี้ จะเพิ่มระบบตรวจสอบเลข อย. ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบปัญหามาก และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน รวมไปถึงค้นหาตำแหน่งร้านขายยาคุณภาพที่อยู่รอบๆ ผู้ใช้งาน หรือค้นชื่อร้านขายยาโดยระบุจังหวัดได้

ทั้งนี้ แอปฯ ทำดี ดรัก อเลิร์ต สามารถดาวน์โหลดได้ โดยระบบแอนดรอยด์เข้าไปที่ Google Play แล้วค้นหาคำว่า Tumdee Drug Alert ส่วนระบบไอโอเอสดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ www.tumdee.org/alert และ www.dmsc.moph.go.th ส่วน อย. สมาร์ท แอปฯ ดาวน์โหลดในระบบแอนดรอยด์ได้ที่ Google play แล้วพิมพ์คำว่า oryor ระบบก็จะแสดง oryor smart application ขึ้นมาให้เลือกติดตั้งได้ทันที ส่วนระบบไอโอเอสเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ App Store

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น