เป็นประเทศเล็กๆ ตั้งบนเกาะทางตอนใต้ปลายแหลมมลายู มีพื้นที่ 697 ตารางกิโลเมตร ความยาวของเกาะจากเหนือถึงใต้ประมาณ 13 กิโลเมตร ความยาวจากตะวันออกไปตะวันตกประมาณ 42 กิโลเมตร มี ประชากรราว 5.3 ล้านคน นอกจากเกาะใหญ่ที่เป็นที่ตั้งของเมืองแล้ว ยังมีเกาะเล็กๆ เป็นบริวารอีกราว 60 เกาะ ในอดีตได้ตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ญี่ปุ่น และเคยรวมกับมลายาเป็นประเทศมาเลเซีย เพื่อให้ได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งด้านเชื้อชาติจึงได้แยกตัวออกมา ด้วยเหตุผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง
9 สิงหาคม 2508 สิงคโปร์ประกาศเป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางความสงสัยว่าจะรอดได้อย่างไรในเมื่อไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ เพราะแม้แต่น้ำดิบก็ยังต้องนำเข้าจากมาเลเซีย
50 ปีของการสร้างประเทศ สิงคโปร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถพัฒนาประเทศให้ขึ้นมาอยู่ในแนวหน้าของโลกได้โดยไม่ต้องมีแต้มต่อ แม้ว่าประเทศจะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่นำความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ที่เหมาะแก่การค้าขาย บวกกับความได้เปรียบด้านภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในภูมิภาคและระดับสากล ผสานกับผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ ความเด็ดเดี่ยวและมีระยะเวลาในการนำประเทศที่นานพอที่จะสร้างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม สิงคโปร์จึงได้วางยุทธศาสตร์และกำกับให้เดินตามยุทธศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายของประเทศเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ พัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันทำสำเร็จแล้ว และกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ยืนแถวหน้าในระดับโลก
วันนี้ถ้าใครไปเยือนสิงคโปร์ จะเห็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เริ่มจากสนามบินนานาชาติชางงีที่ออกแบบได้โอ่โถง สะอาดและเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก รับประกันจากการได้รับรางวัลสนามบินที่ดีที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา เชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนให้เดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้โดยไม่ยาก สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่มาเยือนตั้งแต่แรก นอกจากนั้นสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งระบบไฟฟ้า ประปา การคมนาคม จนปัจจุบันได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเอื้ออำนวยในการลงทุนเป็นอันดับหนึ่งของโลก
สิงคโปร์เจริญเพราะเห็น “จุดอ่อน” ของตนเอง และมีความพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะปิดจุดอ่อนของตนเองโดยไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ตัวอย่างหนึ่งคือปัญหาการขาดแคลนน้ำ สิงคโปร์ต้องนำเข้าน้ำดิบมาจากมาเลเซียซึ่งทั้งสองประเทศได้ทำข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ปี 2470 โดยมาเลเซียจะขายน้ำดิบให้กับสิงคโปร์ 250 ล้านแกลลอนต่อวัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างสัญญาฉบับที่ 3 ที่จะหมดอายุในปี พ.ศ. 2604 ปัจจุบันสิงคโปร์ได้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตน้ำในสิงคโปร์หลายแห่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์น้ำที่เริ่มในสมัยลีกวนยู โดยผลิตน้ำโดยการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และนำน้ำที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล มีการรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า รวมทั้งการเปลี่ยนระบบสุขภัณฑ์ในสุขาสาธารณะทุกแห่งให้เป็นระบบควบคุมการใช้น้ำแบบอัตโนมัติ
จุดเด่นอีกประการหนึ่งของสิงคโปร์ คือ “ความปลอดภัย” ในชีวิตและทรัพย์สิน โดยจัดเป็นประเทศที่มีการเกิดอาชญากรรมต่ำมาก และไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด แม้ว่าจะไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในที่สาธารณะ แต่มีการใช้กล้องวงจรปิดตรวจตราทุกซอกทุกมุมของเกาะ ทำให้เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญที่ดึงนักลงทุน นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยว หลั่งไหลเข้าไปในสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก
แม้ว่าแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติในสิงคโปร์จะมีน้อยมาก แต่ด้วยการจัดผังเมืองที่ยอดเยี่ยม การกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ทำสร้างจุดขายที่แตกต่างและแปลกใหม่ การคมนาคมที่แสนจะสะดวกสบาย ความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความร่มรื่น ความปลอดภัย ทั้งหมดนี้ทำให้มีนักท่องเที่ยวไปเยือนสิงคโปร์ถึง 15 ล้านคนในปีที่แล้ว และจับจ่ายใช้สอยเป็นเงินกว่า 7.5 แสนล้านบาท
ถ้าเราจะถอดบทเรียนของสิงคโปร์เพื่อมาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวของเราให้เป็นมาตรฐาน พัฒนาปัจจัยแวดล้อมและระบบต่างๆให้เอื้อต่อการท่องเที่ยว ทั้งการคมนาคม กฎ ระเบียบที่เข้มงวด ไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่
ประเทศไทยของเราอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราเคยมุ่งไปเอาดีทางเกษตรกรรมแต่ก็มีปัญหาเรื่องราคาสินค้าที่ผันผวนรวมทั้งราคาต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายาที่สะท้อนไปถึงสุขภาพของเกษตรกร ครั้นจะมุ่งไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ก็มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ราคาค่าแรง ฯลฯ ถ้าจะสร้างสมดุลใหม่ โดยพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในทุกภาคของประเทศ เหมือนครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยรณรงค์เรื่องนี้ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยว เป็นรายได้ที่กระจายไปสู่คนทุกภาคส่วนในประเทศ ที่สำคัญ ประเทศเราไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ ทุกอย่างธรรมชาติได้สร้างเป็นต้นทุนให้กับเราแล้ว เพียงแค่ช่วยกันดูแลรักษาคนละไม้คนละมือเท่านั้น
น่าจะใช้แต้มต่อให้เป็นประโยชน์เสียทีนะครับ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่