เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานเครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG เปิดตัว “สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก” ที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
เป็นการส่งเสริมชุมชนถอดบทเรียนและต่อยอดโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ที่มีผลสำเร็จจากการสร้างฝายชะลอน้ำ โดยเปลี่ยนวิธีคิด เน้นการพึ่งพาตนเอง จนเกิดเป็นต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง พร้อมแบ่งปันให้ชุมชนอื่นๆ ขยายผลเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่เรียกชื่อชุมชน “สาสบหก” เพราะตั้งอยู่บริเวณปากลำห้วยหก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีป่าไผ่หกมาก จึงเรียกว่า “สบหก” ส่วนคำว่า “สา” นั้นตั้งให้สอดคล้องกับชื่อขึ้นต้นของหมู่บ้านข้างเคียงในตำบลบ้านสา ปัจจุบันชุมชนนี้มีประชากร 445 คน หรือ 126 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ในอดีตผืนป่าห้วยหกถูกทำลายอย่างหนัก จากการตัดไม้เพื่อนำไปทำเชื้อเพลิง เผาป่าเพื่อล่าสัตว์และเก็บของป่า โดยไม่มีการดูแลรักษาและฟื้นฟูผืนป่า ทำให้ห้วยหกมีปริมาณน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง แถมซ้ำเติมด้วยปัญหาน้ำท่วมหมู่บ้านทุกครั้งหลังจากฝนตกใหญ่
พอปี 2550 บ้านสาสบหกเข้าร่วมโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ที่สร้างฝายชะลอน้ำและป้องกันไฟ ดูแลป่าไม้ในพื้นที่ป่าของหมู่บ้านจนสามารถฟื้นป่าให้ระบบนิเวศกลับมาสมดุล และน้ำในห้วยก็มีปริมาณเพิ่มขึ้น จนนำน้ำจากฝายไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรภายในชุมชนแล้วยังทำเป็นประปาภูเขาได้อีกด้วย
ตลอดระยะเวลาการดูแลผืนน้ำและผืนป่าที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ จึงอยากจะแบ่งปันความรู้ให้แก่ชุมชนอื่นๆ ดังนั้น ในปี 2557 ชุมชนสาสบหก และ เอสซีจี ได้ร่วมกันจัดตั้ง “สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก” เพื่อถอดบทเรียนการทำงานร่วมกับเกษตรกรและชุมชน และรวบรวมองค์ความรู้ พร้อมตัวอย่างผลสำเร็จจากการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ ได้นำไปเป็นแนวปฏิบัติซึ่งจะก่อให้เกิดเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
มาดูชื่อ “สถานีปลูกคิด” มีคำที่ผมไม่คุ้นก็ได้รับการอธิบายว่า “ผะหญา” แปลว่า ปัญญา ส่วนคำว่า “ฮอม” แปลว่า เอามารวมกัน จึงแปลรวมกันว่า “ชุมชนได้นำปัญญามาร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาและสร้างประโยชน์เพื่อความสุขส่วนร่วมกันของชุมชน”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะกรรมการอิสระของเอสซีจี เล่าให้ฟังว่า “การสร้างฝายชะลอน้ำนอกจากจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำและทำให้ธรรมชาติมีความสมดุลแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสามัคคีในชุมชน จากการรวมตัวกันคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลบนความถูกต้องอย่างมีศีลธรรม เพื่อตัดสินใจแก้ไขปัญหาของชุมชนร่วมกัน”
“ชุมชนสาสบหกได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า “กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” โดยมีพี่เลี้ยงจากเอสซีจี ลำปาง และฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาปรับใช้ในการทำงานในชุมชน เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนเพื่อฝึกการคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบ เกิดการต่อยอดไปสู่เรื่องอื่นๆ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” ดร.สุเมธ กล่าว
เห็นได้ชัดว่ากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนสาสบหกเริ่มจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนควบคู่กับแรงศรัทธาที่ต้องการรักษาผืนป่าที่ชุมชนหวงแหน ผ่านงานวิจัย “การมีส่วนร่วมของชุมชนในการสืบสานตำนานม่อนก๋องข้าว” ซึ่งเป็นเรื่องเล่าตำนานบรรพบุรุษของชุมชนแห่งนี้ จึงเลือกเป็นหัวข้อของการวิจัย และทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานวิจัยล้วนสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เวทีชี้แจงแผนการดำเนินงานและสร้างความเข้าใจ กิจกรรมศึกษาและรวบรวมตำนานม่อนก๋องข้าว การวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่จริง การประกวด ขับร้องเพลงซอสืบสานตำนานม่อนก๋องข้าว และการหาแนวทางการถ่ายทอดตำนานสู่สาธารณชน
ข้อคิด...
นี่คือตัวอย่างของโครงการ CSR ที่ส่งผลลัพธ์ที่ดีทั้งต่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสไตล์แนวปฏิบัติของ SCG ที่เน้นเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่เราน่าจะใช้ในการประเมิน คุณค่าผลการดำเนินงานทั้งเพื่อธุรกิจ หรือ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนะครับ
กรณี “สถานีปลูกคิดปันสุข” ซึ่งเป็นเครื่องมือให้ชุมชนเปิดต้อนรับผู้สนใจที่สามารถแวะไปศึกษาเยี่ยมเยือน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้
ที่ใช้คำว่า “ปลูกคิด” คือ ให้มีกระบวนการคิดที่ทันสมัย เป็นเหตุเป็นผล คิดนอกกรอบ ใช้ปัญญาแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ รู้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงช่วยกันส่งเสริม
ส่วนการ “ปันสุข” เมื่อชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ก็พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ทั้งที่เป็นปัญหาอุปสรรคและผลสำเร็จให้กับทุกคนได้นำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นชุมชน เพื่อเป้าหมายคือ ความสุขอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนเปิด “สถานีปลูกคิดปันสุข บ้านเตย” เป็นแห่งแรก ที่ชุมชนบ้านเตย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 เพื่อส่งเสริมชุมชนถอดบทเรียนจากโครงการนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูดินเค็ม
การมีแผนให้สถานีปลูกคิดปันสุข ขยายผลไปยังชุมชนอื่นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งและช่วยขับเคลื่อนชุมชนให้สามารถพัฒนาความคิดและพึ่งพาตนเองเพื่อความสุขที่ยั่งยืนต่อไป จึงเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาด้วยครับ
suwatmgr@gmail.com