xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกกำลังยกเครื่องระบบผลิตครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คุรุสภา - มรภ.- IRES - สสส.” ลงนามยกเครื่องระบบผลิตครู ใช้โรงเรียนสุขภาวะเป็นฐาน เน้นปฏิบัติจริง นำร่อง 1 หลักสูตรใน 10 สถาบันราชภัฏ หวังได้ครูเก่งพัฒนาคุณภาพผู้เรียนแบบองค์รวม ชี้ปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จต้องอาศัยครูที่มีคุณภาพ

วันนี้ (16 ม.ค.) ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในงานครูดีศรีแผ่นดิน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างคุรุสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา (IRES) และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 10 แห่ง ได้แก่ มรภ.มหาสารคาม, มรภ.เชียงใหม่, มรภ.เชียงราย, มรภ.เลย, มรภ.นครราชสีมา, มรภ.อุบลราชธานี, มรภ.ราชนครินทร์, มรภ.หมู่บ้านจอมบึง, มรภ.สุราษฎร์ธานี และ มรภ.ภูเก็ต เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาระบบการผลิตครูโดยใช้โรงเรียนสุขภาวะเป็นฐาน

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศเพื่อคืนความสุขให้กับประชาชนประสบความสำเร็จ ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ ต้องปฏิรูปตั้งแต่ต้นทางคือการผลิตครู ให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาที่พัฒนาคุณภาพนักเรียนได้แบบองค์รวมทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม สามารถใช้ทรัพยากรที่มีในสถานศึกษา และในท้องถิ่น เพื่อจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดการศึกษาตามแนวคิดการสร้างโรงเรียนสุขภาวะ มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ข้อ คือ 1. ผู้เรียนเป็นสุข 2. โรงเรียนเป็นสุข 3. สภาพแวดล้อมเป็นสุข 4. ครอบครัวเป็นสุข และ 5. ชุมชนเป็นสุข โดยต้องมีการปรับสภาพ ลดปัจจัยเสี่ยง จัดโครงสร้างและระบบต่างๆ ให้โรงเรียน สภาพแวดล้อม ครอบครัว และชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาวะของผู้เรียน

ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวว่า คุรุสภาสนับสนุนให้มีการพัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านวิชาชีพครู เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีนวัตกรรมด้านนี้มากนัก ทั้งนี้ การพัฒนาครูให้มีศักยภาพ ปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานของคุรุสภา ต้องมีระบบการผลิตครูที่เหมาะสมสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ให้เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ สามารถพัฒนาตนเอง แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง มีใจรักและศรัทธาในวิชาชีพครู ซึ่งสถาบันผลิตครูจำเป็นต้องพัฒนาโปรแกรมการฝึกหัดครูที่ลงสู่การฝึกปฏิบัติในห้องเรียนจริง พัฒนาให้มีทักษะการสอนที่เป็นตัวอย่าง รวมถึงพัฒนาครูพี่เลี้ยง และโรงเรียนฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่รองรับการผลิตครูในแนวคิดใช้โรงเรียนเป็นฐานได้ ซึ่งการผลิตครูลักษณะนี้ นักศึกษาครูต้องได้เรียนรู้จากปัญหาของผู้เรียนในห้องเรียนที่มีความท้าทาย และได้รับคำแนะนำช่วยเหลือที่ถูกต้องจากครูพี่เลี้ยงที่เชี่ยวชาญในทักษะวิชาชีพครู ซึ่งจะนำไปสู่มาตรฐานการประกอบวิชาชีพครูที่ดียิ่งขึ้น หากการดำเนินโครงการนี้ได้ผลดี จะขยายผลการดำเนินงานไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต่อไป

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ ประธาน IRES กล่าวว่า โครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2558 - 2562) ต่อยอดจากโครงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่น่าพอใจ พัฒนาคุณภาพนักเรียนได้แบบองค์รวม ถือเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกฝนประสบการณ์ที่เหมาะสมสำหรับการผลิตและพัฒนาครูให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 หรือ 3 ปีแรก จะกำหนดกรอบแนวทางการผลิตครูโดยใช้โรงเรียนสุขภาวะเป็นฐาน รวมทั้งแนวทางการปรับปรุงเกณฑ์และเงื่อนไขการผลิตครูเพื่อเสนอต่อคุรุสภาประกาศใช้สำหรับหลักสูตรที่เข้าร่วมโครงการ โดยคุรุสภาประกาศหลักเกณฑ์เพื่อยกเว้นเกณฑ์มาตรฐานบางประการรองรับการทดลองนำร่อง ขณะที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 10 แห่งดำเนินการคัดเลือกหลักสูตรและอาจารย์ประจำหลักสูตรที่สมัครใจเข้าร่วม 1 หลักสูตร และจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อติดตามและปรับหลักสูตร ตลอดจนวิจัยเพื่อติดตามผลคุณภาพของนิสิตนักศึกษา และถอดบทเรียนจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรการผลิตครูโดยใช้โรงเรียนสุขภาวะเป็นฐาน เพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น