xs
xsm
sm
md
lg

สพฉ.เผยลำเลียงผู้ป่วยวิกฤตทางอากาศเพิ่มอัตรารอดชีวิตถิ่นทุรกันดาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สพฉ. เยี่ยมชมการสาธิตการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินโดยอากาศยาน ภาคเหนือชี้ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิต ย่นระยะเวลาประสานงาน เผยที่ผ่านมาช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤตได้ 83 ราย จาก 100 ราย

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตทางอากาศยาน เป็นการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยพาหนะปกติได้ โดยปัจจุบันมีอากาศยาน ที่ใช้ในการปฏิบัติการฉุกเฉินประมาณ 100 ลำ และมีจุดศูนย์กลางการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยาน 6 จุดใน 5 ภูมิภาค ภาคเหนือ คือพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน , ภาคะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา, ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร, ภาคใต้ตอนบน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดปัตตานี โดยตั้งแต่เริ่มใช้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้กว่า 190 ราย

เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบนนั้น ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการพัฒนาการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานมากที่สุด เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาที่ทำให้บางครั้งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลฉุกเฉินปกติต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งส่งผลต่อโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะบาดเจ็บทางศีรษะที่ต้องได้รับการผ่าตัดสมองอย่างเร่งด่วน โดยขั้นตอนของการขอใช้นั้น จะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์อำนวยการในพื้นที่หรือแพทย์ที่รักษาว่าจำเป็นต้องลำเลียง หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอากาศยานเพื่อประโยชน์ต่อการช่วยชีวิต หรือป้องกันการพิการที่อาจเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ จากนั้นจะมีการประสานงานกับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด (ศูนย์ 1669) หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อประเมินความเหมาะสม ให้คำแนะนำในการเตรียมผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนการลำเลียงทางอากาศ และขออนุมัติลำเลียงภายในเวลา 10 นาที และนอกจากการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตแล้ว ยังมีการใช้อากาศยานทางการแพทย์ลำเลียงยา หรือเวชภัณฑ์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่ประสบภัย หรือพื้นที่เสี่ยงภัยอันตราย รวมทั้งการขนย้ายอวัยวะ หรือชิ้นส่วนของมนุษย์เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย
 
ด้าน นพ.บุญฤทธิ์ คำทิพย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.นครพิงค์ กล่าวว่า การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินในเขตพื้นที่ภาคเหนือนั้นเริ่มขึ้นในปี 2553 โดยจากสถิติตั้งแต่เริ่มจนถึงเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2558 สามารถช่วยเหลือลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินได้กว่า 100 ราย ส่งผลให้ผู้ป่วยรอดชีวิตถึง 83 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ลำเลียงมาจากโรงพยาบาลต้นทางในจังหวัดแม่ฮ่องสอน รองลงมาคือ จังหวัดน่าน และอำเภอรอบนอกของจังหวัดเชียงใหม่ มายังโรงพยาบาลปลายทาง คือ โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และ โรงพยาบาลประสาท โดยมีพาหนะเป็นอากาศยานทั้งเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ที่มาจากการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สพฉ. กับหน่วยงานต่างๆ ที่มีอากาศยานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยผู้ป่วยฉุกเฉินทุกรายจะไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ภาคเหนือนั้นได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของเวลาในการประสานงาน เนื่องจากอากาศยานไม่เหมือนรถพยาบาลฉุกเฉิน ก่อนจะขึ้นบินได้จะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ซึ่งในเรื่องนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการสื่อสารให้เป็นประโยชน์ โดยจัดทำกรุ๊ปไลน์ north sky doctor เพื่อใช้ในการติดต่อประสานงานการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะ ส่งผลให้การประสานงานและการสั่งการลำเลียงผู้ป่วยมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาทีมและอุปกรณ์ให้มีความพร้อมอยู่เสมอด้วย



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น